ในปี พ.ศ. 2518 เจ้าหน้าที่ ร.พ.ช. เข้ามาขุดดินบริเวณหลังวัดเจอโครงกระดูก และโบราณวัตถุหลายชนิด อาทิ กำไล ปลอกแขน ตะขอสำริด(ชิ้นส่วนประกอบเสลี่ยงหรือคานหาม) ตลอดจนลูกปัดหินและแก้ว นอกจากนั้นยังมีการพบโบราณวัตถุอีกบ้างในระหว่างการขุดสร้างบ้านเรือนบริเวณ รอบวัด ในปี 2531 ระหว่างการวางท่อประปาในหมู่บ้านก็ขุดพบโบราณวัตถุอีก ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจึงเข้ามาตรวจดู พบว่าโบราณวัตถุจำพวก กำไลแก้ว ลูกปัดแก้ว และหินที่พบคล้ายกับแหล่งโบราณคดีที่ตาก กำแพงเพชร ลำพูน และนครสวรรค์ แสดงถึงความสัมพันธ์กันของแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ นอกจากนี้โบราณวัตถุหลายชนิดทำจากสำริด ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตสูง
ของที่ขุดพบส่วนหนึ่งถูกเก็บไว้ที่วิหารของวัด ต่อมาเจ้าอาวาสพระธาตุจอมปิง พระอธิการอดุล ทนตจิตโจ ร่วมกับชาวบ้านได้ก่อสร้างอาคารเพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบดังกล่าว เปิดให้ประชาชนเข้าขมอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ พ.ศ.2544
อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารชั้นเดียว ภายในห้องโถง กลางห้องตั้งตู้จัดแสดงทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6x2 เมตร ปิดกระจกโดยรอบ 1 ตู้ ภายในตู้จัดแสดงโบราณวัตถุที่ขุดพบบริเวณวัด อาทิ เศษภาชนะดินเผา กำไลหิน กำไลสำริด ใบหอก ลูกปัด ต่างหู นอกจากนี้จัดมีของสะสมของวัด ได้แก่ พระพุทธรูป กล้องสูบยาดินเผา ที่ใส่ดินปืนทำจากเขาสัตว์ ผ้ายันต์ ตะกรุด เชี่ยนหมาก โดยจัดวางเรียงเป็นกลุ่มพร้อมป้ายคำบรรยายวัตถุภาษาไทยบางรายการ ด้านบนของตู้ติดตั้งหลอดไฟลูออเรสเซนส์สีต่างๆ เพื่อให้แสงสว่างแก่โบราณวัตถุศิลปวัตถุที่จัดแสดง
ด้านข้างตู้จัดแสดงใหญ่ ยังมีตู้เก็บคัมภีร์ใบลานอีกหนึ่งตู้ และมีแท่นประดิษฐานรูปปั้นของหลวงพ่อแก้ว จิรธมโม(ไชยราช) อดีตเจ้าอาวาส พร้อมป้ายประวัติชีวิตของหลวงพ่อแก้วที่เขียนด้วยลายมือบนฝาผนังด้านหลัง
ข้อมูลจาก:
1. การสำรวจภาคสนาม วันที่ 17 พฤศจิกายน 2548
2. กรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย ภาคเหนือ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2546. หน้า 94.
Tags : โบราณวัตถุ, เครื่องประดับ, พระพุทธรูป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น