อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอแม่แตง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสภาพป่าและธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติ ที่สวยงามและจุดชมวิวที่สามารถชมบรรยากาศอันร่มรื่น โดยเฉพาะบริเวณห้วยน้ำดัง ที่มีชื่อว่าทะเลหมอกที่งดงามยิ่ง มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังมียอดดอยที่มีธรรมชาติงดงามอีกหลายแห่ง เช่น ดอยช้าง ดอยสามหมื่น รวมทั้งมีโป่งเดือดซึ่งเป็นน้ำพุร้อนธรรมชาติ ส่วนการล่องแพในลำน้ำแม่แต่งก็เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 782,575 ไร่ หรือ 1,252.12 ตารางกิโลเมตร
ความเป็นมา
ตามมติที่ประชุมคณะ อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ประจำกรมป่าไม้ ครั้งที่ 9/2530 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 ให้กองอนุรักษ์ต้นน้ำ และกองอุทยานแห่งชาติประสานงานกัน จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจพื้นที่บริเวณหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) จังหวัดเชียงใหม่บางส่วน เพื่อพิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามข้อเสนอแนะของกองอนุรักษ์ต้นน้ำ กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/ ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2530 กรมป่าไม้ให้ นายณรงค์ เจริญไชย เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจพื้นที่ร่วมกับหัวหน้าหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) หัวหน้าหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 4 (แม่แจ่มหลวง) และหัวหน้าหน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 9 (ห้วยน้ำรู) ซึ่งได้รายงานผลการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713(ทป)/86 ลงวันที่ 3 เมษายน 2531 แต่เนื่องจากยังขาดรายละเอียดต่างๆ และขอบเขตพื้นที่ที่เหมาะสมในการกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับวนอุทยานโป่งเดือด จังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือ ที่ กษ 0713(ปด)/10 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2531 แจ้งว่า เนื้อที่ใกล้เคียงวนอุทยานมีความเหมาะสมที่จะรวมกับพื้นที่หน่วยพัฒนาต้น น้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/950 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2531 เสนอกรมป่าไม้ให้ นายสวัสดิ์ ทวีรัตน์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 หัวหน้าวนอุทยานโป่งเดือด ไปสำรวจเบื้องต้นบริเวณดังกล่าว ได้รับรายงานผลการสำรวจตามหนังสือ ที่ กษ 0713(ปด)/74 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2531 ว่า ได้ทำการสำรวจร่วมกับ นายณรงค์ เจริญไชย เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสมจะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ
กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/206 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2532 เสนอกรมป่าไม้ขอความเห็นชอบ เพื่อนำเรื่องการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังเข้าพิจารณาในที่ประชุม คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบกำหนดบริเวณพื้นที่หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 2 (ห้วยน้ำดัง) หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 4 (แม่จอกหลวง) หน่วยพัฒนาต้นน้ำที่ 9 (ห้วยน้ำรู) บางส่วน และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนบน ในป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตงในท้องที่ตำบลกี๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และ ตำบลแม่อี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเนื้อที่ประมาณ 1,252.12 ตารางกิโลเมตร หรือ 782,575 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ต่อไป
ต่อมาได้มีวิทยุกอง อุทยานแห่งชาติที่ กษ 0712 ทับ 97 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2534 ให้อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ประสานงานกับหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ และให้สำรวจพื้นที่บางส่วนของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ และพื้นที่วนอุทยานโป่งเดือด ในท้องที่ตำบลเมืองคอน อำเภอเชียงดาว และตำบลป่าแป๋ ตำบลเมืองกาย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมประมาณ 118,906.25 ไร่ หรือ 190.25 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพสูงมาก มีจุดเด่นที่สวยงาม เช่น โป่งเดือด น้ำตก ลุ่มน้ำแม่แตง รวมทั้งความหลากหลายของพืชพรรณ และสัตว์ป่าที่ชุกชม มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติโดย ด่วน
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่ง ชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเชียงดาว และป่าแม่แตงในท้องที่ตำบลเปียงหลวง ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง ตำบลกี๊ดช้าง ตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนบนในท้องที่ตำบลเวียงเหนือ ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 33ก ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2538 มีเนื้อที่ประมาณ 782,575 ไร่ หรือ 1,252.12 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 80 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาและหุบเขาสลับกัน เป็นแนวยาวขนานกันในแนวเหนือ-ใต้ของเทือกเขาแดนลาว เทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาผีปันน้ำ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีที่มีการแทรกดันของหินหนืด และแรงบีบอัดในแนวตะวันออก-ตะวันตก ทำให้พื้นผิวโก่งงอกลายเป็นภูเขาและเทือกเขา และมีหุบเขาที่เกิดจากรอยเลื่อนที่ทรุดต่ำลง รวมทั้งได้มีการสึกกร่อนที่เกิดจากกระบวนการทางฟิสิกส์และทางเคมี ตลอดจนการทับถมของตะกอนน้ำพาทำให้เกิดเป็นที่ราบแคบๆ ระหว่างภูเขาทั้งสองฝั่งของลำน้ำ มีความสูงตั้งแต่ 400-1,962 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีภูเขาที่สูงที่สุดคือ ดอยช้าง เป็นป่าต้นน้ำลำธารของลำน้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำแตงและแม่น้ำปาย จัดอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำตั้งแต่ชั้น A ถึงชั้น 1A มีลำห้วยน้อยใหญ่มากมาย ได้แก่ ห้วยเหี้ยะ ห้วยแม่ยะ ห้วยฮ่อม ห้วยน้ำดัง ห้วยแม่สลาหลวง ห้วยโป่ง น้ำงุม ห้วยแม่แพลม ห้วยงู ห้วยแม่เย็นหลวง ห้วยน้อย ห้วยฮ่อม ห้วยหก ห้วยแม่ฮี้ ห้วยขาน ห้วยแม่ปิง ห้วยแม่จอกหลวง เป็นต้น
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังมีภูมิอากาศประเภททุ่งหญ้าสะวันนา ซึ่งมีฤดูฝนและฤดูแล้งเห็นเด่นชัด สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน 36 องศาเซลเซียส ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณฝนเฉลี่ยตลอดปี 1,134 มิลลิเมตร และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม 14.1 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 26 องศาเซลเซียส
พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดังสภาพทางธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้เกิดสังคมพืชหลากหลายชนิด ประกอบด้วย…
ป่าดิบชื้น
ขึ้นปกคลุมสองฝั่งของลำน้ำในพื้นที่ที่มีความสูง 500-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ เติม อวบดำ หว้า งิ้วป่า ปอตูบหูช้าง ผ่าเสี้ยน มันปลา เปล้าใหญ่ ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ เอื้องหมายนา มันดง ม้าสามต๋อน เฒ่าหลังลาย หญ้าถอดบ้อง ตองกง เครือออน กลอย สายหยุด หัสคุณ ออสมันด้า และ เล็บเหยี่ยว เป็นต้น
ป่าดิบเขา
พบในพื้นที่ทีเป็นหุบเขาและพื้นที่ลาดชันที่สภาพอากาศมีความชื้นค่อนข้าง สูงตลอดปี ในระดับความสูง 1,650-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ก่อกระดุม ก่อแดง สนสามใบ เม็ดชุนตัวผู้ ช้าส้าน มะมือ ก่วม เต้าหลวง จำปีหลวง มณฑาป่า เหมือดดง เดื่อปล้องหิน ตะไคร้ต้น สารภีป่า กำลังเสือโคร่ง กะทัง ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่าง ได้แก่ กล้วย ต่างไก่ป่า พลูช้าง พญาดง หญ้าคมบาง ตองกง พริกไทย ดาดตะกั่ว และกาหลา เป็นต้น
ป่าเบญจพรรณ
พบกระจายตัวเป็นพื้นที่กว้างที่ระดับความสูงต่ำกว่า 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กาสามปีก กุ๊ก แคหัวหมู แดง ตะคร้ำ ประดู่ มะเกลือ มะกอก ตังหน ชิงชัน โมก ฯลฯ ไม้พุ่มและพืชพื้นล่างได้แก่ คนทา คัดเค้าเครือ เฒ่าหลังลาย เต่าร้าง ผักแว่น สะบ้าลิง สาบเสือ บุก ลิเภา ชายผ้าสีดา เกล็ดปลา หญ้าขัด และพ่อค้าตีเมีย เป็นต้น ป่าเต็งรัง พบโดยทั่วไปในพื้นที่ที่ระดับความสูงต่ำกว่า 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง เหียง พลวง รัง รกฟ้า พะยอม ตีนนก ติ้วขน สมอไทย ส้านใหญ่ มะขามป้อม ยอป่า แสลงใจ เค็ด ฯลฯ ไม้พุ่มและไม้พื้นล่าง ได้แก่ กะตังใบ โสมชบา กระมอบ หนาดคำ ตาฉี่เคย ข้าวสารป่า และยาบขี่ไก่ เป็นต้น
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสภาพป่า จึงชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ได้แก่ ช้างป่า กวางป่า หมีควาย เก้ง กระจงเล็ก เลียงผา หมูป่า แมวดาว ชะมดเช็ด ลิงวอก ชะนีมือขาว พังพอน เม่นใหญ่ ไก่ป่า ไก่ฟ้าสีเงิน นกเขาเปล้า นกขุนทอง นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกปรอดคอลาย เหยี่ยวต่างสี กะท่าง เต่าปูลู เต่าใบไม้ ก้งก่าแก้ว แย้ ตะกวด งูเหลือม งูเขียวดอกหมาก งูเห่า กบทูด ปาด เขียดป่าไผ่ และอึ่งลาย เป็นต้น ในบริเวณแม่น้ำและลำห้วยต่างๆ พบปลาจาด ปลามอน ปลาเลียหิน ปลาเวียน ปลาค้อ ปลาค้างคาว ปลาติดหิน และปลาก้าง เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยว
จุดชมวิวดอยกิ่วลม
เป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติส่วนกลาง (เอื้องเงิน) เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามมากที่สุดและมีชื่อเสียงมากในด้านการท่องเที่ยว ที่จะชมทะเลหมอกในช่วงเช้าตรู่ และเป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อคอยชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกอันกว้างใหญ่ไพศาลในช่วงฤดูหนาว ในยามท้องฟ้าเปิดและแจ่มใสจะมีทัศนียภาพที่สวยงามและหลากจินตนาการของทิว เขาที่สลับซับซ้อนของยอดดอยเชียงดาวที่มีความสูงประมาณ 2,175 เมตรจากระดับน้ำทะเล
สภาพธรรมชาติอันสวยงามของจุดชมทิวทัศน์นี้ เมื่อยืนอยู่ที่บ้านพักของห้วยน้ำดังแล้วมองไปทางทิศตะวันออก ทำให้มองเห็นสภาพธรรมชาติที่สวยงาม ทิวทัศน์ของทิวเขาอันสลับซับซ้อนซึ่งมีดอยหลวงเชียงดาว ที่สูงที่สุดอยู่ใจกลาง และในช่วงเช้าตรู่ของฤดูหนาวจะเกิดทัศนียภาพของทะเลหมอกที่สวยงาม ทางเข้าแยกจากถนนสายแม่มาลัย-ปาย หลักกิโลเมตรที่ 65-66 เป็นทางเข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร นอกจากนี้ บริเวณดอยกิ่วลมยังเป็นที่ตั้งของพระตำหนักเอื้องเงิน ซึ่งเป็นอาคารทรงชาเลย์ที่กรมป่าไม้สร้างถวายสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้า กัลยานิวัฒนาฯ ภายในบริเวณโดยรอบพระตำหนักมีการออกแบบภูมิทัศน์ที่ประกอบด้วยพืชประจำถิ่น เช่น กล้วยไม้ “เอื้องเงินหลวง” ที่ออกดอกสะพรั่งในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม
จุดชมวิวดอยช้าง
อยู่บนดอยช้างขึ้นไปทางเหนือของห้วยน้ำดัง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 20 กิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,962 เมตร สามารถมองเห็นทะเลหมอกในตอนเช้าตรู่ได้ชัดเจน และสภาพธรรมชาติของทิวเขาอันสลับซับซ้อนของดอยสามหมื่นและดอยสันห้วยรูทาง ทิศเหนือ ดอยหลวงเชียงดาวและดอยขุนแม่แมะทางทิศตะวันออก ดอยแม่ยะและดอยม่อนอังเกตุทางทิศใต้ ดอยแม่ยานและเมืองปายทางทิศตะวันตก ดอยช้างปกคลุมด้วยป่าดิบเขาอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของนกบนที่สูงนานาชนิด เช่น นกเดินดง นกจับแมลง นกเขน นกปรอด ฯลฯ
น้ำตกห้วยน้ำดัง
เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยน้ำดัง มีโขดหินมากมาย ความสูงประมาณ 50 เมตร กว้าง 10 เมตร มี 4 ชั้น เป็นน้ำตกที่สวยงามมาก และสภาพโดยทั่วๆ ไปชุ่มชื้นไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าดิบชื้นและโขดหินที่สวยงาม ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยน้ำดัง
น้ำตกแม่เย็น
เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำห้วยแม่เย็นหลวง ซึ่งจะไหลลงมาสู่แม่น้ำปายต่อไป สภาพน้ำตกเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่มี 2 ชั้น ความสูงประมาณ 40 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี จัดเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก พื้นที่โดยรอบปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นและโขดหินสวยงาม
ล่องแพลำน้ำแม่แตง
สองฝั่งของลำน้ำแม่แตงยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และนกนานาชนิด จัดว่าเป็นสายน้ำที่มีบรรยากาศของการท่องเที่ยวที่ตื่นเต้นเร้าใจ เต็มไปด้วยเกาะแก่งและโขดหิน ลำน้ำไหลคดเคี้ยวไปตามหุบเขาด้วยกระแสน้ำที่ไม่เชี่ยวจนเกินไป การเดินทางเริ่มต้นที่น้ำพุร้อนโป่งเดือด โดยเดินป่าไปพักค้างแรมที่บ้านปางป่าคา (7 กิโลเมตร) หรือบ้านป่าข้าวหลาม (9 กิโลเมตร) จากนั้นจึงลงแพล่องลำน้ำแม่แตง ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง จะถึงบ้านสบก๋ายซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของการล่องแพ ช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว
โป่งน้ำร้อนท่าปาย
เป็นบ่อน้ำร้อนที่เปรียบเสมือนน้ำกำลังเดือดขึ้นเป็นพรายฟอง อุณหภูมิน้ำผิวดินประมาณ 80 องศาเซสเซียล น้ำร้อนจะไหลรวมกันเป็นธารน้ำร้อนขยายเป็นบริเวณกว้าง มีหมอกควันปกคลุมพื้นที่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 30 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โป่งน้ำร้อนโป่งเดือด
โป่งน้ำร้อนโป่งเดือด น้ำพุร้อนขนาดใหญ่ สูง 2-3 เมตร จำนวน 3-4 บ่อ และยังมีบ่อเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป อุณหภูมิน้ำผิวดินประมาณ 90-99 องศาเซสเซียล น้ำพุร้อนจะพุ่งจากใต้ดินตลอดเวลา บางครั้งพุ่งสูงถึง 2 เมตร มีกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ บริเวณนี้ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งเดือด ระยะทาง 1,550 เมตร บริการอาบน้ำแร่เพื่อสุขภาพ และโป่งเดือดยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะไกล ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ บริเวณโป่งเดือดยังมีศุนย์บริการนักท่องเที่ยว สะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติ ห้องอาบน้ำแร่ ร้านอาหาร บ้านพักนักท่องเที่ยวและสถานที่กางเต้นท์ ไว้ให้บริการด้วย
น้ำตกแม่ลาด
ความสูงประมาณ 40-50 เมตร มี 5 ชั้น ตั้งอยู่ในตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่โดยรอบปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นและโขดหินสวยงาม
น้ำตกแม่หาด
เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 40-50 เมตร มี 4 ชั้น ตั้งอยู่ในตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่โดยรอบปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น
พระตำหนักเอื้องเงิน
เป็นอาคารทรงชาเลย์ที่กรมป่าไม้ได้สร้างถวายสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ และทรงพระราชทานนามว่า “พระตำหนักเอื้องเงิน”ใช้ เป็นที่ประทับของพระองค์ ตั้งอยู่บริเวณดอยกิ่วลมที่มีทัศนียภาพโดยรอบสวยงาม ภายในบริเวณโดยรอบพระตำหนักมีการออกแบบภูมิทัศน์ที่ประกอบด้วยพันธุ์พืช ประจำถิ่นกล้วยไม้ “เอื้องเงินหลวง” ที่ออกดอกสะพรั่งในช่วงเดือนมกราคม ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับที่เป็นพืชเมืองหนาวที่หลากหลายพันธุ์และหลากสีสัน
ห้วยน้ำรูและดอยสามหมื่น
อยู่ห่างจากดอยช้างประมาณ 10 กิโลเมตร ห้วยน้ำรูมีลักษณะเป็นตาน้ำเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่าของดอยสามหมื่น และเป็นต้นน้ำของลำน้ำแม่แตงที่ไหลลงสู่ลำน้ำแม่ปิง ส่วนดอยสามหมื่นเป็นที่ตั้งของหน่วยจัดการต้นน้ำ ซึ่งมีจุดชมทิวทัศน์อยู่บนยอดดอย วันที่มีอากาศแจ่มใสสามารถมองเห็นดอยหลวงเชียงดาวสูงตระหง่านเด่นชัด
น้ำตกแม่ปิง
ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของลำน้ำแม่ปิงน้อย เป็นน้ำตกที่มี 4 ชั้น ความสูงประมาณ 50 เมตร พื้นที่โดยรอบปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น
ลำน้ำแม่ปาย
เป็นลำน้ำสายสำคัญอีกสายหนึ่งที่มีต้นกำเนิดในพื้นที่ตอนเหนือของอุทยาน แห่งชาติห้วยน้ำดัง ที่มีน้ำไหลตลอดปีในสายน้ำที่คดเคี้ยว สองฝั่งลำน้ำส่วนใหญ่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของสภาพธรรมชาติ ของพรรณไม้นานาชนิด และสัตว์ป่าจำพวกนก ในบางช่วงของลำน้ำมีการตั้งถิ่นฐานของชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมดั้งเดิมทั้งการแต่งกายและภาษาพูด
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง มีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวได้ศึกษาหาความรู้หลายรูปแบบ เช่น การเดินป่าระยะไกล การเดินศึกษาธรรมชาติ และการขี่จักรยานศึกษาธรรมชาติ หาก นักท่องเที่ยวมีความสนใจกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ขอให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติโดยตรง มีรายละเอียด ดังนี้…
การเดินป่าระยะไกล :เป็น กิจกรรมเดินป่าที่จะได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ด้วยเส้นทางเดินเท้าที่ตัดผ่านป่าที่มีทัศนียภาพที่สวยงามตามธรรมชาติ มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวเขาในเส้นทางที่ผ่าน ทางอุทยานแห่งชาติจัดให้มีกิจกรรมการเดินป่า 8 เส้นทาง ใช้เวลาในการพักแรม 1 คืน ได้แก่ เส้นทางโป่งเดือด-บ้านสบก๋าย มี 3 เส้นทาง เส้นทางบ้านแม่แสะ-บ้านสบก๋าย มี 2 เส้นทาง เส้นทางถนนทางเข้าอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง กิโลเมตรที่ 5 - บ้านสบก๋าย เส้นทางปากทางแม่จอก-บ้านสบก๋าย และเส้นทางดอยช้าง-บ้านสบก๋าย รวมทั้งในบางช่วงของการเดินทางเป็น การขี่ช้างศึกษาธรรมชาติ และ การล่องแพ ที่ได้สัมผัสเกาะแก่งที่สวยงาม ตื่นเต้น และเร้าใจ
การเดินศึกษาธรรมชาติ :เป็น การเดินศึกษาธรรมชาติ ตามเส้นทางที่อุทยานแห่งชาติจัดทำไว้ ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง เป็นการเข้าไปสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด พร้อมกับได้รับความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติโดยผ่าโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติ ในรูปแบบต่างๆ
การขี่จักรยานศึกษาธรรมชาติ :เป็น ขี่จักรยานไปตามเส้นทางที่ทอดลัดเลาะไปในพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ไปด้วย พรรณไม้นานาชนิดทั้งสองฟากทาง ผ่านจุดที่น่าสนใจและโดดเด่นทางธรรมชาติ จุดที่ตื่นเต้นและท้าทาย ภายใต้บรรยากาศที่หนาวเย็น
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติ ห้วยน้ำดัง ได้จัดเตรียมทางเดินศึกษาธรรมชาติเพื่อให้ผู้มาเยือนได้เข้าไปสัมผัส ธรรมชาติอย่างใกล้ชิด พร้อมกับได้รับความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติโดยผ่าโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติ ในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วยเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ดังนี้…
เส้นทางศึกษาธรรมชาติเอื้องเงิน มีความยาวประมาณ 1,470 เมตร ความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติประมาณ 1 ชั่วโมง มีจุดศึกษาธรรมชาติ 13 จุด
เส้นทางศึกษาธรรมชาติห้วยน้ำดัง มีความยาวประมาณ 1,470 เมตร ความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติประมาณ 1 ชั่วโมง มีจุดศึกษาธรรมชาติ 13 จุด
เส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งเดือด มีความยาวประมาณ 1,550 เมตร ความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติประมาณ 1 ชั่วโมง มีจุดศึกษาธรรมชาติ 11 จุด
เส้นทางศึกษาธรรมชาติโป่งน้ำร้อน มีความลาดชันปานกลาง ใช้เวลาในการศึกษาธรรมชาติประมาณ 1 ชั่วโมง มีจุดศึกษาธรรมชาติ 17 จุด
การเดินทาง
รถยนต์ : โดยเดินทางจากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 107 และเข้าทางแยกซ้ายมือที่ตลาดแม่มาลัย อำเภอแม่แตง ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1095 สายแม่-มาลัยปาย จนถึงช่วงหลักกิโลเมตรที่ 65 - 66 มีทางแยกขวามือ ซึ่งมีป้อมยามตั้งอยู่ทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร เดินทางต่อไปอีก ระยะประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดชมดอยกิ่วลม ถ้าเดินทางต่อไปอีกตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1095 จากหลักกิโลเมตรที่ 66 ไปยังอำเภอแม่ปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถึงบ้านแม่ปิง จะมีทางแยกขวามือเป็นทางของ รพช. หมายเลข มส. 11024 ถึงโป่งร้อน อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง
สถานที่กางเต้นท์
อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมเต้นท์และสถานที่กางเต้นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต้นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต้นท์ได้ กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 250-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต้นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น…
รายการที่ 1
- เต้นท์ ขนาด 3 คน ราคา 250 บาท/คืน
- เต้นท์โดม ขนาด 5 คน ราคา 400 บาท/คืน
- เต้นท์เคบิน ขนาด 6 คน ราคา 500 บาท/คืน
- เต้นท์ค่าย ขนาด 6 คน ราคา 500 บาท/คืน
แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ที่รองนอน ถุงนอน และชุดสนาม
รายการที่ 2
- เต้นท์ ขนาด 2 คน ราคา 400 บาท/คืน
- เต้นท์โดม ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
- เต้นท์เคบิน ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
- เต้นท์ค่าย ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนาม
กรณีที่นำเต้นท์ไปกางเอง ต้องเสียค่าบริการสถานที่ 30 บาท/คน/คืน หากไม่มีเครื่องนอนก็ใช้บริการเครื่องนอนและอุปกรณ์สนามของอุทยานฯ มีอัตราค่าบริการเครื่องนอนกรณีนำเต้นท์ไปเอง มีดังนี้…
- ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอน และชุดสนาม ราคา 150 บาท/ชุด/คืน
- ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนาม ราคา 200 บาท/ชุด/คืน
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง หมู่ 5 ตำบลกึ๊ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทรศัพท์ 0 5326 3910, 0 5326 3911 โทรสาร 0 5324 8491
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น