คราวนี้ไปวัดแถวจังหวัดน่านบ้างดีกว่า
หลังจากไหว้พระธาตุช่อแฮเสร็จ เรา 6 คนก็เริ่มออกเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองน่านกันครับ
ไปถึงตอนเที่ยงกว่าๆ พวกเราตกลงกันว่ามื้อนี้จะกินอาหารอีสานกัน
ว่าแต่ร้านไหนอร่อยล่ะ เปิดคู่มือท่องเที่ยวก็เจอร้านแนะนำ ร้านสวนอีสาน
แต่เนื่องจากไม่ใช่คนพื้นที่ ร้านมันตั้งอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ก็เลยแวะเติมน้ำมันถามเด็กปั๊ม
คุณน้าที่ปั๊มบอกทางได้แจ่มมาก จนทุกวันนี้สุยังจำได้แม่นเลยค่ะ
เค้าบอกว่า ไฟแดงที่ 1 ตรงไป ไฟแดงที่ 2 เลี้ยวขวา ไฟแดงที่ 3 ตรงไป เลยไฟแดงที่ 4 เลี้ยวซ้าย
ไฟแดงที่ 5 ตรงไป ก่อนถึงไฟแดงที่ 6 จะมีซอยอยู่ขวามือ เลี้ยวซอยนั้นปุ๊บเราก็เห็นร้านเป้าหมายเลย
ร้านนี้คนเยอะพอดูครับ แต่รสชาติอาหารสุว่าไม่ถึงกับแย่ แต่ก็ไม่อร่อย หรือว่าคนละภาคกินคนละรสก็ไม่แน่ใจ
ถ้าเห็นรูปเฉยๆ จะรู้สึกว่าหน้าตาน่าทานมาก
มื้อนี้ไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ ไม่ถูกปาก
ออกจากร้านเราก็เริ่มเดินทางกันต่อครับ
ตอนมาที่ร้านนี้เห็นศาลหลักเมืองสวยดี ก็เลยวกกลับไปไหว้สักหน่อย
เสาหลักเมืองน่าน สร้างขึ้นโดย สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถะวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 57
โปรดให้ฝังเสาหลักเมือง ณ วัดมิ่งเมืองนี้ เมื่อ 15 เมษายน 2333
เดิมเป็นเสาไม้สักทองขนาดใหญ่ หัวเสาเป็นรูปดอกบัวตูม ฝังลงพื้นดินโดยไม่มีเสาครอบ
ปี 2506 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้เสาหลักเมืองโค่นล้มลง
ต่อมาทางวัดกับคณะชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างศาลหลักเมืองจำลองขึ้นมาในสถานที่เดิม
อันนี้แบบย่อนะคะ พอให้ทราบกันคร่าวๆ
ซื้อดอกไม้ธูปเทียน จะได้ผ้าสีมาด้วยค่ะ ไหว้เสร็จก็ผูกผ้าสี ผูกที่เสาหลักเมืองนะคะ อย่าเอามาผูกตัว
เข้าไปข้างในไปไหว้พระกันค่ะ น้ำตาลไหว้พระนานมาก แล้วไหว้นานอย่างนี้ทุกวัดด้วยนะครับ
ตลอดทริปไม่ว่าแวะวัดไหน น้ำตาลจะไหว้ก่อนออกทีหลัง เคยสงสัยเหมือนกันว่าขออะไร
นั่งตรงหน้าพระประธานลมโกรก เย็นสบายมาก พรมก็นุ่ม
ความที่เราเริ่มออกเดินทางกันแต่เช้า เจออากาศแบบนี้พาลจะหลับ
รีบออกจากวัดนี้ไปวัดต่อไปกันเลยดีกว่าค่ะ ก่อนที่จะหลับอยู่ตรงนี้ซะก่อน
วัดต่อไปคือวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ถัดจากศาลหลักเมืองไปไม่ไกลเลย
ไปไหว้พระด้านในกันครับ น้ำตาลเข้าก่อนออกทีหลังเช่นเคย
ไหว้เสร็จก็มาสำรวจรอบวัดกัน จากข้อมูล วัดนี้โดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย
เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก
ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ “ค้ำ” องค์เจดีย์ไว้ เป็นที่มาของคำว่า ช้างค้ำ ครับ
เดินวนๆ สำรวจรอบๆ องค์พระธาตุก็ไปเจอองค์พระพุทธรูปเข้าค่ะ น่าเสียดายมากๆ
ที่มา : Sanook Travel
วัดสุดท้ายอีกสักวัดนะคะ วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดนี้อยู่นอกเมือง
พี่จรว่าเป็นวัดประจำปีเกิดของตัวเอง คือ คนเกิดปีเถาะ (คราวไปพระธาตุช่อแฮก็ว่าตัวเองเกิดปีขาล)
เดิมทีวัดนี้เป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง อยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร
องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ยๆ เป็นสีทองสุกปลั่ง สามารถมองเห็นได้แต่ไกล เนื่องจากสูงถึง 2 เส้น
เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต
ตัวพระธาตุตั้งอยู่บนเชิงเนินปูด้วยอิฐ ลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ 20 วา มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้าง
องค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนาไทย ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง
จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจาก กรุงสุโขทัย
มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้
และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย
และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน
จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
วันนี้เที่ยววัดมาทั้งวัน เดี๋ยวคืนนี้เราจะไปนอนบนดอยกันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น