บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ดอยแม่สลอง



          สัมผัสหมู่บ้านชาวจีน ชิมชารสเลิศ ลิ้มรสอาหารจีน ชมดอกซากุระบานทั่วดอยแม่สลอง

          ดอยแม่สลองหรือดอยสันติคีรี เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนจากกองพล 93 ที่อพยพเข้ามาอยู่บนดอยแม่สลองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ชุมชนบนดอยแม่สลองจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบ ชาวจีนแถบมณฑลยูนนาน ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยปลูกชาและพืชผักเมืองหนาว ท่ามกลางทิวทัศน์ที่งดงามอากาศเย็นสบาย ตลอดจนอาหารการกินอันขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นอาหารจีนแท้ๆ ตามตำหรับอาหารจีนแถบตอนใต้

          บ้านเทอดไทย เดิมเรียกว่า "บ้านหินแตก" อยู่ห่างจากเชียงราย 66 กิโลเมตร ในปี พ.ศ.2511 ขุนส่าเคยเข้ามาใช้เป็นฐานที่มั่นในฐานะผู้นำกองทัพกู้ชาติไต "ขุน" เป็นคำที่ประชาชนในรัฐฉานเรียกบุคคลที่ให้ความเคารพนับถือ แต่ชาวโลกรู้จัก ขุนส่า ดีในชื่อ "ราชาเฮโรอีน" ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2525 ขุนส่าได้ใช้บ้านหินแตกเป็นฐานที่มั่นอย่างถาวรและกระทำการผิดกฎหมายจนทาง รัฐบาลไทยต้องใช้กำลังผลักดันให้ออกไปจากประเทศไทยคงทิ้งไว้แต่อดีตที่ เหลืออยู่ เช่น บ้านพักที่ขุนส่าใช้เป็นศูนย์บัญชาการ นอกจากนี้บ้านเทอดไทยยังเป็นที่อยู่ของชุมชนชาวเขาหลายเผ่าซึ่งสามารถพบ เห็นได้ในตลาดยามเช้า

ที่ตั้ง

          ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย



การเดินทาง (แผนที่) 

          รถยนต์ส่วนตัว ไปตามถนนพหลโยธิน เลย อำเภอแม่จันไปประมาณ 1 กิโลเมตร บริเวณบ้านป่าซางตรงหลัก กม. ที่ 860 มีทางแยกซ้ายมือไป 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 1130 ต่อกับ 1234 ถึงศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเลยจากศูนย์ฯ ไป 11 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านผาเดื่อ ซึ่งเป็นจุดแวะชมและซื้อหัตถกรรมชาวเขา จากนั้นเดินทางจากบ้านเย้าถึงบ้านอีก้อสามแยก ทางขวาไปหมู่บ้านเทอดไทย ส่วนแยกซ้ายไปดอยแม่สลอง ระยะทาง 18 กิโลเมตร รวมระยะทางจากเชียงราย 42 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย จึงถึงดอยแม่สลอง ส่วนอีกทางหนึ่งก่อนถึง อ.แม่จัน ให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1089 ไปเรื่อย ๆ จนถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 54 และ 55 (กิ่วสะไต) มีแยกทางขวามือไปอีก 13 กิโลเมตร จึงถึงดอยแม่สลองได้เช่นกัน จากเชียงรายใช้เส้นทางสายแรกสะดวกที่สุด (และจากดอยแม่สลองมีถนนเชื่อมต่อไปถึงบ้านท่าตอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 45 กิโลเมตร)

          รถโดยสารประจำทาง ขึ้นรถโดยสารประจำทางที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร จังหวัดเชียงราย รถโดยสารสายเชียงราย-แม่สาย ตรงชานชาลาหมายเลข 5 แล้วลงบริเวณบ้านป่าซาง (ปากทางไปดอยแม่สลอง) อำเภอแม่จัน จะมีคิวรถสองแถวสีเขียวบริการนักท่องเที่ยว ตั้งแต่เวลา 06.00 - 17.00 น. (รถออกทุก 30 นาที) ราคาเหมา ประมาณ 700-800 บาท/คัน/ 10 คน (คนละ 80 บาท)

          ** ราคารถอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาสอบถามล่วงหน้าก่อนการเดินทาง**


ประวัติ 


          ในอดีตบนดอยแห่งนี้เป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ที่ยังชีพด้วยด้วยการทำไร่เลื่อนลอย จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เทือกดอยแถบนี้เตียนโล่งมาจนปัจจุบัน ต่อมาดอยแม่สลองเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี พ.ศ. 2504 เมื่อทหารจีนกองพลที่ 93 จากมณฑลยูนนานอพยพเข้ามาอาศัยอยู่

          เป็นชุมชนของอดีต ทหารจีนกองพล 93 สังกัดพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็ค ทำการรบอยู่ทางตอนใต้ของจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในจีน เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์นำโดยเหมาเจ๋อตุง ยึดอำนาจสำเร็จ พรรคก๊กมินตั๋งจึงถอยร่นไปปักหลักที่เกาะไต้หวัน กองพล 93 กลายเป็นกองกำลังพลัดถิ่น ถูกกดดันอย่างหนักจนถอยร่นเข้ามาในเขตพม่า แต่ถูกฝ่ายพม่าผลักดัน เกิดการปะทะกันหลายครั้งจนต้องถอยร่นมาจนถึงเทือกดอยตุงชายแดนไทย

          ฝ่ายพม่าได้ร้องเรียนไปยังสหประชาชาติเมื่อปี พ.ศ. 2496 และมีมติให้อพยพกองกำลังพลัดถิ่นไปยังประเทศไต้หวัน แต่ทหารสังกัดนายพลหลี่เหวินฝาน และนายพลต้วนซีเหวินราว 3 หมื่นคน ทำเรื่องขอลี้ภัยในประเทศไทย เนื่องจากไม่แน่ใจในอนาคต เพราะไต้หวันเป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ รัฐบาลไทยอนุญาตโดยจัดสรรให้ทหารของนายพลหลี่เหวินฝานไปอยู่ที่ถ้ำง้อบ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ส่วนทหารสังกัดนายพลต้วนซีเหวิน 15,000 คน อยู่บนดอยแม่สลอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เพื่อใช้เป็นกันชนกับชนกลุ่มน้อย ทำให้ดอยแม่สลองในยุคแรกเป็นดินแดนลี้ลับต้องห้าม มีปัญหายาเสพติดและกองกำลังติดอาวุธมาตลอด ทางการไทยได้พยายามแก้ปัญหา โอนกองกำลังเหล่านี้มาอยู่ในความดูแลของกองบัญชาการทหารสูงสุด

          กระทั่งปี พ.ศ. 2515 ครม. มีมติรับทหารจีนคณะชาติให้อาศัยในแผ่นดินไทยอย่างเป็นทางการ ยุติการค้าฝิ่น ปลดอาวุธ และหันมาทำอาชีพเกษตรกรรม โดย พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มโครงการปลูกชา และปลูกสนสามใบเพื่อทดแทนป่าชุมชนบนดอยแม่สลองได้ชื่อใหม่เป็นบ้านสันติคีรี มีการออกบัตรประชาชนให้เมื่อปี พ.ศ. 2521 ดอยแม่สลองคืนสู่ความสงบและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญนับแต่นั้นมา


สถานที่ท่องเที่ยว

          ++ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทร์สถิตมหาสันติคีร 

          ตั้งอยู่บนยอดดอยสูงสุดของแม่สลอง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 4 กิโลเมตร พระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทราสถิตมหาสันติคีรี ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดที่ระดับความสูง 1,500 เมตร เหนือหมู่บ้านสันติคีรี ห่างจากหมู่บ้าน 4 กิโลเมตร มีถนนลาดยางตัดขึ้นไปยังพระบรมธาตุฯ แต่ถนนสูงชัน คดเคี้ยวมาก พระบรมธาตุฯ สร้างแล้วเสร็จเมื่อราวปี พ.ศ. 2539 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จย่า เป็นเจดีย์แบบล้านนาประยุกต์ บนฐานสี่เหลี่ยมลดชั้น สูงประมาณ 30 เมตร ฐานกว้างด้านละประมาณ 15 เมตร ประดับกระเบื้องสีเทา มีซุ้มจระนำด้านละสามซุ้ม เรือนธาตุประดับพระพุทธรูปยืนสี่ทิศ องค์ระฆังประดับแผ่นทอง แกะสลักลวดลาย ใกล้กับองค์เจดีย์เป็นวิหารแบบล้านนาประยุกต์ที่ตั้งของพระบรมธาตุฯ เป็นจุดสูงสุดของเทือกดอยแม่สลอง จึงชมทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยเฉพาะในยามเย็น ขณะเดียวกันองค์พระธาตุยังเด่นเป็นสง่า มองเห็นแต่ไกล เป็นสัญลักษณ์อีกอย่าง ของดอยแม่สลอง


          ++ สุสานนายพลด้วน 

          ผู้นำทหารจีนฮ่อแห่งกองพันที่ 5 กองพล 93 เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมขึ้นไปเคารพศพนายพลด้วน ตัวสุสานสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหมด แท่นหินอ่อนบรรจุร่างนายพลต้วนซีเหวิน อยู่ภายในศาลาเก๋งจีนขนาดใหญ่ สีขาว พื้นปูหินอ่อน ด้านหลังแท่นบรรจุศพ มีภาพถ่ายเก่าแก่เกี่ยวกับประวัติและผลงาน ด้านหน้าเป็นลาดเนิน มีตัวอักษร “ต้วน” ภาษาจีน สีทองบนพื้นสีฟ้า สุสานนายพลต้วน ตั้งอยู่บนเนินเหนือหมู่บ้านระดับความสูงประมาณ 1,300 เมตร แยกขึ้นไปทางด้านข้างคุ้มนายพลรีสอร์ต ประมาณ 1 กิโลเมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2523 บริเวณที่ตั้งสุสานยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ของดอยแม่สลองได้อย่างกว้างไกล สามารถมองเห็นบ้านสันติคีรีในหุบต่ำลงไปเบื้องล่าง เป็นจุดชมทิวทัศน์ของหมู่บ้านที่ดีจุดหนึ่ง ด้านหน้ามีร้านชาสองร้าน ซึ่งจะเชิญชวนให้ผู้มาเยือนได้ทดลองชิมชา


          ++ ถนนสายดอกซากุระ 

          มีชื่อเรียกเฉพาะว่านางพญาเสือโคร่ง ซึ่งจะบานทุกปีในฤดูหนาว คือช่วงกลางเดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเห็นดอกซากุระบานอวดดอกสีชมพูสวยเต็มต้นได้ตามริมทางขึ้นดอยซึ่งถนนสายซากุระบนดอยแม่สลอง เส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านสันติคีรี ทั้งด้านกิ่วสะไต และบ้านอีก้อสามแยก จะปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งเรียงรายสองข้างทาง เป็นระยะทางกว่า 4 กิโลเมตร ต้นนางพญาเสือโคร่งจะทิ้งใบจนหมด และผลิดอกสีชมพูพราวไปทั้งต้นในหน้าหนาว ดูราวกับดอกซากุระของญี่ปุ่น สวยงามมาก ต้นนางพญาเสือโคร่งเหล่านี้เป็นไม้พื้นถิ่นบนดอยทางภาคเหนือ เป็นไม้โตเร็ว นางพญาเสือโคร่งบนดอยแม่-สลองนำมาปลูกไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2525

          ซากุระเมืองไทย –> นางพญาเสือโคร่ง (Prunus cerasoldes D. Don) จัดอยู่ในวงศ์ Rosaceae ซึ่งเป็นต้นไม้ในสกุลเดียวกับกุหลาบ บ๊วย ท้อ ซากุระ ฯลฯ ดอกของพญาเสือโคร่งมีสีชมพูลักษณะคล้ายกับดอกซากุระ จึงถูกขนานนามว่า ซากุระเมืองไทย

          นางพญาเสือโคร่งเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีลำต้นสูงประมาณ 10 เมตร เปลือกเรียบเป็นมัน สีเหลือบน้ำตาล มีใบขนาดเล็กรูปไข่ปลายเรียวแหลม ออกดอกสีชมพูเป็นช่อกระจุก รวมอยู่ใกล้ปลายกิ่งก้าน กลีบดอกมี 5 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 – 2 เซนติเมตร แต่หลุดร่วงง่าย

          นางพญาเสือโคร่งพบขึ้นอยู่ตามดอยสูงตั้งแต่ 1,000 – 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลทางภาคเหนือของไทย โดยจะออกดอกเต็มต้นในฤดูหนาว ช่วงเวลานี้บนดอยแม่สลองจึงงดงามไปด้วยสีชมพูของดอกนางพญาเสือโคร่ง


          ++ ชมงานมหัศจรรย์ชา ซากุระบาน อาหารชนเผ่า ดอยแม่สลอง

          งานมหัศจรรย์ชาดอยแม่สลอง จัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคมจนถึงเดือนมกราคม ณ บริเวณอนุสรณ์สถานวีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

          อำเภอแม่ฟ้า หลวงร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองนอก กำหนดจัด “งานมหัศจรรย์ชา ซากุระบาน อาหารชนเผ่า ดอยแม่สลอง” ประจำปีขึ้น ระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม-4 มกราคม ของทุกปี ณ บริเวณอนุสรณ์สถานวีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ บ้านสันติคีรี(ดอยแม่สลอง) ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีการจัดนิทรรศการ จำหน่ายใบชารสดี การแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า ประกวดอาหารชนเผ่าและอาหารที่ประกอบจากใบชา ประกวดเทพธิดาใบชา ประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง การแสดงแสงสีเสียง (การแสดงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชนเผ่า) บนดอยแม่สลอง 6 ยุคสมัย นอกจากนี้ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ส่งท้ายปีเก่า จะมีการจุดพลุ ปล่อยโคมลอย และเช้าวันที่ 1 มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตรใบชาพระสงฆ์ มีขันโตก 9 มงคล


          ++ อนุสรณ์สถานอดีตทหารจีนคณะชาติ
          ตั้งอยู่ที่ บ้านสันติคีรี ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงประวัติศาสตร์ว่า ที่บ้านสันติคีรีเป็นหมู่บ้านของอดีตทหารจีนคณะชาติ (ทจช.ก๊กมินตั๋ง) กองพล 93 ได้ช่วยราชการไทยต่อสู้และปราบปรามคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ดอยหลวง ดอยขาว และดอยผาหม่น จังหวัดเชียงราย

          พ.ศ.2514-2528 และพื้นที่เขาย่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2524 จากการสู้รบดังกล่าวอดีตทหารจีนคณะชาติได้เสียชีวิตและบาดเจ็บทุพพลภาพเป็น จำนวนมากรัฐบาลไทยจึงกำหนดสถานะให้อดีตทหารจีนและคณะชาติเหล่านั้น เป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย และให้แปลงสัญชาติเป็นไทยได้ ซึ่งทำให้อดีตทหารจีนคณะชาติเหล่านี้ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเป็นอย่างมาก

          อนุสรณ์สถานดังกล่าวออกแบก่อสร้างและตกแต่งอย่างสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมจีน ข้างในเป็นที่รวบรวมข้อมูล ประวัติความเป็นมาของชุมชนแม่สลอง ประวัติของคณะทหารจีนคณะชาติ ความเหนื่อยยาก การตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย และมีห้องสมุดที่เก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐานอ้างอิง มีการจัดแสดงภาพถ่ายประวัติศาสตร์ความเป็นมา รูปภาพ และสิ่งสำคัญต่างๆ บนดอยแม่สลองที่ได้เกิดขึ้นในอดีต โดยนักท่องเที่ยวที่เข้าชมได้ ทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-17.00 น. เสียค่าบำรุงอนุสรณ์สถาน ฯ คนไทย 30 บาท คนต่างชาติ 50 บาท โทร. 053-765114-9 หรือสอบถามรายละเอียดที่ อบต.แม่สลองนอก โทร. 0 5376 5129


          ++ สวนชาบ้านสันติคีรี


          ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย บ้านสันติคีรีเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีการผลิตชากันมาก และได้รับการพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวสวนชา OTOP ผลิตภัณฑ์ชาที่จำหน่ายก็ได้ผ่านการคัดสรรให้เป็นสินค้าสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ชาที่ถูกใจนำไปฝากคนใกล้ ชิดได้เช่นกัน บ้านสันติคีรีนี้มีกลุ่มผลิตชาหลายกลุ่มได้แก่ กลุ่มชาวังพุดตาล บริษัทใบชาโชคจำเริญ จำกัด และกลุ่มสวนชาดอยตุง ซึ่งอยู่ที่ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
 
แหล่งซื้อของฝาก

          สินค้าประเภทพืชไร่ เมืองหนาว ชา กาแฟ ลูกท้อ ลูกบ๊วย ไวน์ เครื่องยาและเครื่องปรุงอาหารต่างๆ จากเมืองจีน รวมถึงเครื่องประดับจากชาวเขาเผ่าต่างๆ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวสามารถซื้อหาติดไม้ติดมือกลับบ้านไปได้ ราคาสินค้าจัดว่าไม่แพงนักเมื่อเทียบกับคุณภาพ


          สำหรับสินค้าที่ขึ้นชื่ออย่างยิ่งของดอยแม่สลอง ได้แก่ ใบชาพันธุ์ต่างๆ มีร้านขายใบชาเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปชิมอยู่หลายร้าน ร้านชิมชาเหล่านี้ส่วนมากไม่ไร่ชาและโรงอบชาเป็นของตนเอง

1 ความคิดเห็น: