พระธาตุทองคำ
ชื่นฉ่ำธรรมชาติ
แร่ธาตุอุดม
เครื่องถมสามกษัตริย์
มากวัดมากศิลป์
ครบสิ้นกุ้งปู
พระบรมธาตุเมืองนคร
ผู้ที่มาท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องมาแวะสักการะ คือพระธาตุทองคำเมืองนคร
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
พิกัดแผนที่ระวาง ๔๙๒๕ I ลำดับชุด L ๗๐๑๗ พิมพ์ครั้งที่ ๒ - RTSD จังหวัดนครศรีธรรมราช พิกัด ๔๗ PPK ๐๖๖๒๙๕
รุ้ง ๘ องศา ๒๔ ลิปดา ๓๐ ฟิลิปดา เหนือ
แวง ๙๙ องศา ๕๘ ลิปดา ๐๑ ฟิลิปดา ตะวันออก
สิ่งสำคัญของ พระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช1. พระบรมธาตุเจดีย์
2. วิหารพระทรงม้า
3. วิหารเขียน
4. วิหารโพธิ์ลังกา
5. วิหารสามจอม
6. วิหารพระแอด
7. วิหารทับเกษตร
8. วิหารคด
9. วิหารธรรมศาลา
10. วิหารหลวง
11. วิหารโพธิ์พระเดิม
12. พระอุโบสถ
13. เจดีย์รายรอบพระบรมธาตุเจดีย์
14. โบราณวัตถุภายในวัด
ประวัติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร พระบรมธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เดิมเรียกว่า วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดใหญ่ ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองโบราณค่อนมาทางทิศใต้ เนื้อที่ ๒๕ ไร่ ๒ งาน มีถนนราชดำเนินตัดผ่านหน้าวัด เข้าใจว่าเดิมคงเป็นถนนโบราณ ประวัติการสร้างวัดไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดนอกจากประวัติจากตำนานที่กล่าวถึงการก่อสร้างพระมหาธาตุ ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าภายหลังเหตุการณ์จริงเป็นเวลายาวนานมาก
หลักฐานทางเอกสารที่ชัดเจนปรากฏขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวว่าวัดนี้เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ อุปราชปักษ์ใต้ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากวัดเพชรจริกมาดูแลรักษาวัด และคราวที่รัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสเมืองนคร ได้โปรดพระราชทานนามวัดว่า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
พระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมารพระธิดาและพระโอรสผู้อัญเชิญพระทันตธาตุ
พระบรมธาตุเจดีย์ก็คือ พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ซึ่งเชื่อกันว่าเดิมเป็นเจดีย์แบบอิทธิพลศิลปะศรีวิชัย คือเป็นเจดีย์ทรงมณฑป มีหลังคาเป็นสถูปห้ายอดคล้ายพระบรมธาตุเจดีย์ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕ ต่อมาพระสถูปแบบศรีวิชัยทรุดโทรมลง จึงได้มีการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ทรงลังกาซึ่งเป็นเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบไว้ เชื่อกันว่าในขณะนั้นคือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อิทธิพลพุทธศาสนาแบบลังกาในดินแดนนครศรีธรรมราชเข้มแข็งมาก นครศรีธรรมราชจึงได้รับอิทธิพลทั้งศาสนาและศิลปกรรมจากลังกา ศาสตราจารย์หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุลทรงวินิจฉัยว่า พระบรมธาตุเจดีย์ปัจจุบันมีลักษณะคล้ายเจดีย์ กิริเวเทระ ในเมืองโบโลนนารุวะ ประเทศศรีลังกา สร้างในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชก็ควรสร้างหลังจากนั้นมาก
ส่วนสถาปัตยกรรมอื่น ๆ ภายในวัดพระมหาธาตุฯ ล้วนเป็นของที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเป็นส่วนใหญ่จะมีสิ่งก่อสร้างในสมัย ธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นอยู่บ้าง เช่น วิหารทับเกษตร วิหารพระแอด เป็นต้น
รูปแบบศิลปกรรมในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
ศิลปกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร คือ พระบรมธาตุเจดีย์ทรงลังกา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระวิหารอื่น ๆ เช่น พระวิหารหลวง พระวิหารเขียน วิหารพระทรงม้า วิหารคด ฯลฯ สร้างในสมัยอยุธยา
การถือครองที่ดิน หรือผู้ดูแล
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
การใช้งานในปัจจุบัน
เป็นวัดหลวง (พระอารามหลวง) ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร อาจกล่าวได้ว่าเป็นวัดที่สำคัญที่สุดวัดหนึ่ง ในพื้นที่ภาคใต้ มีโบราณวัตถุสถานที่สำคัญที่สุดคือ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ ปลียอดทองคำ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวใต้ตลอดมา
สภาพปัจจุบัน องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจากอดีต (ตั้งแต่สมัยอยุธยา) จนถึงปัจจุบัน โบราณสถานอื่น ๆ ได้รับการทำนุบำรุงดูแลรักษาจากวัดพระมหาธาตุฯ ตามสมควร
การประกาศขึ้นทะเบียนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๓๔ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙
การระวางแนวเขตประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม – ตอนที่ – วันที่ –
ประวัติการอนุรักษ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถาน
การบูรณะตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เท่าที่ค้นคว้าได้มีดังต่อไปนี้
๑. สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ. ๒๑๕๕ และ ๒๑๕๙ มีการซ่อมแผ่นทองที่ปลียอดพระบรมธาตุ
๒. สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. ๒๑๙๐ ยอดพระบรมธาตุได้ชำรุดหักลง และได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่
๓. สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑ มีการดัดแปลงทางเข้าพระสถูปพระบรมธาตุบริเวณวิหารพระทรงม้า
๔. สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. ๒๓๑๒ ปฏิสังขรณ์พระอารามทั่วไปภายในวัด และโปรดให้สร้างวิหารทับเกษตรต่อออกจากฐานทักษิณรอบองค์พระธาตุ
๕. สมัยพระบาทพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัด) บูรณะพระวิหารหลวง วิหารทับเกษตร พระบรมธาตุที่ชำรุด
๖. สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยพระครูเทพมุนี (ปาน) บูรณะกำแพงชั้นนอก วิหารทับเกษตร วิหารธรรมศาลา วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน ปิดทองพระพุทธรูป
๗. สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๗ ติดตั้งสายล่อฟ้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์
๘. สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลปัจจุบัน บูรณะโดยกรมศิลปากร ดังต่อไปนี้คือ
- พ.ศ. ๒๕๑๐ บูรณะปฏิสังขรณ์วิหารธรรมศาลา
- พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๗ บูรณปฏิสังขรณ์ พระวิหารหลวงและพระอุโบสถ
- พ.ศ. ๒๕๒๐ บูรณะวิหารทับเกษตรส่วนหลังคา
- พ.ศ. ๒๕๒๒ จ้างสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ( AIT) ทำการวิจัยและสำรวจโครงสร้าง ความมั่นคงแข็งแรงของฐานรากและตัวองค์พระบรมธาตุ
- พ.ศ. ๒๕๒๓ บูรณะวิหารทับเกษตรทั้งหลัง
- พ.ศ. ๒๕๒๔ ทำความสะอาดกำจัดคราบสกปรก เช่นตะไคร่น้ำ รา อุดรอยแตก อาบน้ำยา ป้องกันการดูดซึมที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์
- พ.ศ. ๒๕๒๕ อนุรักษ์เจดีย์ทิศบนฐานทักษิณ ๔ องค์ กำแพงแก้วฐานทักษิณ ซ่อมเครื่องสูงซ่อมทางระบายน้ำ และปูนทับหลังคาทับเกษตร ทำความสะอาดคราบสกปรกและอาบน้ำยาป้องกันการดูดซึมของน้ำที่ผิวปูนฉาบอง๕พระบรมธาตุ
- พ.ศ. ๒๕๓๐ ซ่อมกลีบบัวทองคำที่ฉีกขาดเปราะบาง เสื่อมสภาพเป็นสนิม เสริมความมั่นคงแข็งแรงที่กลีบบัวปูนปั้น ในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมธาตุโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารเสด็จอัญเชิญแผ่นกลีบบัวทองคำขึ้นประดิษฐบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์
- พ.ศ. ๒๕๓๓ บูรณะองค์พระบรมธาตุตั้งแต่วิหารทับเกษตรไปจนถึงระดับกลีบบัวคว่ำ – บัวหงายทองคำ
- พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๓๘ บูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ และเสริมความมั่นคงปูนแกนในปลียอด ใช้งบประมาณทั้งสิ้น ๕๐ ล้านบาท สิ้นทองคำ ๑๔๑ บาท
- พ.ศ. ๒๕๓๙ บูรณะพระวิหารหลวง งบประมาณ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท
- พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๔๒ บูรณะพระวิหารหลวง วิหารธรรมศาลา วิหารเขียน และพระระเบียงคด งบประมาณ ๓๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท
ที่มาของข้อมูล
๑. กรมศิลปากร. กองงานเฉพาะกิจบูรณะปฏิสังขรณ์ปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช (กกป.) การบูรณะปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช สิ้นสุดครึ่งหนึ่งตามแผนงาน. กรุงเทพฯ. ๒๕๓๗
๒. กรมศิลปากร. ข้อมูลการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช เอกสารอัดสำเนาเย็บเล่ม. ๒๕๓๙
๓. ปรีชา นุ่นสุข และวิรัตน์ ธีระกุล. พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชกับศิลปวัฒนธรรมและสังคม นครศรีธรรมราช. รายงานการสัมมนาประวัติศาสตร์ นครศรีธรรมราช ครั้งที่ ๔. ๒๕๒๙
๔. วิเชียร ณ นครและคณะ นครศรีธรรมราช. โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์. กรุงเทพฯ. ๒๕๒๑
อ้างอิงข้อมูลจาก ..สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร
พระบรมธาตุเมืองนคร สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพุทธศาสนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น