กาญจนบุรี...ตามรางรถไฟตามหัวใจแห่งแควน้อย (อสท)
จริยา ชูช่วย...เรื่อง
นภดล กันบัว...ภาพ
"รถไฟฟรีเพื่อประชาชน" ขบวน 259 ธนบุรี-น้ำตก ต่อยาว 4 โบกี้ ออกจากสถานีธนบุรี 13.55 น. ตรงเวลาเป๊ะ
1. "รถไฟฟรีเพื่อประชาชน" คือพาหนะในการเดินทางครั้งนี้ สำหรับเส้นทางธนบุรี-น้ำตก มีวันละ 2 ขบวน คือ ขบวน 257 ออกเวลา 07.50 น. และขบวน 259 ออกเวลา 13.55 น. ส่วนในวันหยุดมีขบวนพิเศษเพิ่มเติม สอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1690 สายด่วนรถไฟ
เราไปถึงก่อนเวลาหลายชั่วโมง ด้วยเกรงว่าของฟรีจะมาพร้อมกับปริมาณคนมหาศาล เปล่าเลย...ทุกอย่างดำเนินไปเนิบช้า ไม่มีอาการตื่นเต้นไร้บรรยากาศแย่งชิง ราวกับว่าพวกเขารู้จังหวะและเวลาของรถไฟ เพราะต่อให้เรามาถึงเร็วแค่ไหน แต่ทางสถานจะเปิดให้รับตั๋วฟรีได้ก่อนเวลาขึ้นรถไฟราว 2 ชั่วโมงเท่านั้น หากแต่ช่วงเวลานั่งรอนี่แหละ ที่ทำให้มองเห็นชีวิตริมชานชาลาเต็มตาขึ้น
จากสถานีธนบุรีมีรถไฟสายล่องใต้ไม่กี่ขบวน แบ่งเป็น 2 สายหลัก สายหนึ่งแยกไปสุดที่สถานีน้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี อีกสายหนึ่งวิ่งไปจบที่สถานีหลังสวน จังหวัดชุมพร ขบวนที่ไปสถานีน้ำตกเรียกได้ว่ามีกลุ่มผู้โดยสารหลากหลายทีเดียว พระสงฆ์ นักศึกษา พ่อค้าแม่ขาย คนพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวไทย และจำนวนไม่น้อยก็เป็นแบ็กแพ็คเกอร์ชาวต่างประเทศ
บน รถไฟฟรี แน่นอน...ไม่มีพื้นที่ปรับอากาศ ลมธรรมชาติคือเสน่ห์ ความแตกต่างของแต่ละโบกี้ถือเป็นเรื่องน่าค้นหา เราเลือกนั่งโบกี้ที่เป็นเก้าอี้ไม้โบราณขัดมัน นั่งสบายได้อารมณ์คลาสสิก เดินไปอีกหน่อยเป็นโบกี้แบบที่นั่งหันหน้าเข้าหากันติดริมหน้าต่าง เว้นช่องว่างตรงกลางไว้พอสมควรมีราวจับห้อยต่องแต่ง คาดว่าโบกี้นี้แหละในช่วงเวลาเร่งด่วนน่าจะบรรจุคนได้จำนวนมาก แต่วันนี้ว่างเสียจนเป็นสนามฟุตซอลได้เลยทีเดียว ส่วนสองโบกี้สุดท้ายเป็นเบาะนุ่ม ประชากรหนาแน่นที่สุด ตอนท้ายแยกส่วนให้ภิกษุและคนพิการ
โบกี้โดนกระแทก 2 ที เป็นสัญญาณว่าตัวกับหัว (รถไฟ) รวมเป็นร่างเดียวกันแล้ว นายสถานีตีธงเขียว พร้อมเที่ยวกาญจนบุรีแล้วสิ
2. รถไฟวิ่งผ่านสถานีจรัลสนิทวงศ์เป็นสถานีแรก วิ่งไปเรื่อยจนถึงชุมทางตลิ่งชัน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมเส้นทางจากสถานีรถไฟธนบุรี ชุมทางบางซื่อ และชุมทางหนองปลาดุก และอยู่ในเส้นทางโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายสีแดงของ รฟท. ซึ่งหากสังเกตดี ๆ ตลอดเส้นทางไปปลายทางสถานีน้ำตก เราจะพบชุมทางเพียงแค่ 2 ชุมทางเท่านั้น คือ ชุมทางตลิ่งขัน และชุมทางหนองปลาดุก
ฝน เริ่มปรอยเบา บางคนดึงหน้าต่างปิดมิดชิด 2 ชั้น เอนตัวนอนยาว ตื่นอีกทีก็ถึงสถานีจุดหมายพอดี แต่เราเป็นอีกประเภทที่พอใจกับการยื่นหน้ารับสายฝนฉ่ำ ๆ โต้ลมผมปลิว ชมบรรยากาศเขียวชุ่มสองข้างทาง ราวกับหลุดหลงออกจากตัวเมืองหลวงมาแสนไกล ทั้งที่จริงเราเพิ่งมาถึงสถานีบ้านฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ นี่เอง
แถวบริเวณสถานีศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา มีบัวหลวงสีขาวบึงใหญ่ให้เปลี่ยนบรรยากาศ จนเมื่อเข้าสู่สถานีศาลายา เห็นโครงการบ้านจัดสรรที่ค่อย ๆ ขยายตัวแย่งพื้นที่นาข้าว ย้ำชัดถึงความเคลื่อนไหวของความเจริญด้านวัตถุ พอรถไฟมาถึงสถานีนครชัยศรี ดงดอกรักชูช่อดอกขาวสลับม่วง ฉันว่าเจริญตาแล้ว หันขวับมาเจอนายสถานีหนุ่มมาดเนี้ยบ ตีธงแดงแข็งขัน เจริญใจขึ้นอีกโข กลิ่นขี้หมูลอยมาแตะจมูกเบา ๆ แน่แท้กำลังเข้าสู่สถานีนครปฐม แหล่งเลี้ยงหมูอันดับต้น ๆ ของภาคกลาง
ถึงชุมทางหนองปลาดุก ทางรถไฟแยกออกเป็น 3 สาย ไปสถานีสุพรรณบุรี สถานีน้ำตก จังหวัดกาญจนบุรี และสถานีบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ถึงตอนนี้อาหารจากแม่ค้าท้องถิ่นประเดประดังขึ้นมาขาย ราวเป็นตลาดนัดเคลื่อนที่บริการถึงเก้าอี้ แต่ที่ได้ใจพวกเราที่สุด คือ ข้าวแกงในกระทงใบตอง ข้าวร้อน ๆ โปะมาด้วยแกงเขียวหวานไก่ พะแนงหมู ไข่พะโล้ รสชาติเด็ดขาด ราคากระทงละ 10 บาทเท่านั้น
เลย จากสถานีลูกแก จังหวัดกาญจนบุรี ถึงช่วงนี้มีดอกหญ้าสองข้างทางรถไฟหนาแน่น ละอองเกสร ดอกไม้ ใบหญ้า ลอยลิ่วเข้าโบกี้ทุกทิศทาง ใครที่เป็นโรคภูมิแพ้พวกนี้ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน จนมาถึงสถานีท่าเรือน้อย จังหวัดกาญจนบุรี รถไฟจอดนิ่ง ฉันเดินไปถามนายตรวจว่ารถไฟเป็นอะไร นายตรวจตอบมาอย่างอารมณ์ดีว่า "เป็นปกติครับ รอหลีกรถไฟขากลับจากสถานีน้ำตก อย่างน้อยก็ 30 นาที เดินลงไปซื้ออะไรทานก่อนได้เลยครับ"
คนขายน้ำบนรถไฟพูดเสริมขึ้นทางด้านหลัง "ไม่ ต้องตกใจหนู รถไฟไทยวิ่งตามเวลาเสมอ รถไฟวิ่งผ่านสถานีจรัลสนิทวงศ์เป็นสถานีแรก วิ่งไปเรื่อยจนถึงชุมทางตลิ่งชัน แล้วแต่ตามมากตามน้อยเท่านั้นแหละ"
จากสถานีทุ่งทองวิ่งเข้าสถานีกาญจนบุรี เตรียมเปิดใจรับบรรยากาศสวย ๆ โอบล้อมด้วยขุนเขา นาข้าว ไร่มัน สำปะหลัง ทุ่งข้าวโพด และฝูงวัว
3. นี่คือปลายทางของเพื่อนร่วมขบวนหลายคน และเป็นต้นทางของเพื่อนใหม่บางคน...สถานีกาญจนบุรี บางคนเลือกที่จะลงที่นี่ เพื่อตั้งต้นการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีจากตัวเมือง บางคนเลือกประหยัดเวลา โดยเดินทางด้วยรถยนต์มาจนถึงตัวเมืองกาญจนบุรี แล้วนั่งรถไฟสายมรณะจากสถานีกาญจนบุรีถึงสถานีน้ำตก และอีกหลายคนรวมถึงพวกเรา เลือกที่จะนั่งยาวไปจนสุดปลายทางรางไม้หมอน
รถไฟวิ่งเรื่อย ๆ ผ่าน สะพานข้ามแม่น้ำแคว สองข้างทางมีทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศมารอชมขบวนรถไฟ บนสะพานมีจุดพักให้คนยืนรอหลีบรถไฟเป็นช่วง ๆ กิจกรรมนี้ถือเป็นไฮไลต์หนึ่ง ของโปรแกรมทัวร์จังหวัดกาญจนบุรีเลยทีเดียว พอได้เวลา...คนบนสะพานก็ถ่ายรูปคนบนรถไฟ คนบนรถไฟก็ถ่ายรูปคนบนสะพาน ยิงชัตเตอร์กันไปมา เป็นช่วงเวลาแห่งรอยยิ้มและความสนุกสนาน...นั่นแหละ มันมักผ่านไปไวเสมอ
เวลาแห่งรอยยิ้มวันนี้ ดูเหมือนจะแตกต่างกันสิ้นเชิงกับความเป็นจริง ของช่วงเวลาการสร้างสะพานและรางรถไฟสายนี้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกโจมตีภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยึดครองประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของกองทัพอังกฤษได้สำเร็จ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ทหารในเครือจักรภพตกเป็นเชลยศึก และถูกยึดเครื่องจักร อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงหัวรถจักร โบกี้รถโดยสารและโบกี้บรรทุกสินค้าจำนวนมาก พร้อมเส้นทางรถไฟหลายร้อยกิโลเมตร
แผนต่อไปของกองทัพญี่ปุ่น คือสร้างทางรถไฟจากประเทศไทยเชื่อมต่อไปยังเมืองทันบูชายัต (Thanbyuzayat) ประเทศพม่า (ในสมัยนั้น) เพื่อเป็นเส้นทางขนส่งกำลังคน อาวุธ และเสบียงจากสิงคโปร์ ผ่านมาเลเซีย ไทย พม่า โดยมีเป้าหมายที่จะโจมตีประเทศอินเดียอันดับต่อไป เส้นทางสายนี้ไม่ใช่ของแปลกใหม่ที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเบิกเอง หากแต่บริษัทก่อสร้างทางรถไฟของประเทศอังกฤษได้เคยสำรวจไว้ก่อนแล้ว แต่เห็นว่าลักษณะภูมิประเทศยากลำบาก และเป็นพื้นที่ที่เต็มด้วยโรคประจำถิ่น จึงได้หยุดโครงการไป
ทาง รัฐบาลญี่ปุ่นจึงนำแบบแปลนนี้มาสร้างเป็นตำราเรียน ให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งในโตเกียวศึกษา ด้วยเล็งเห็นว่าการเข้าประเทศพม่าทางทะเล เพียงเส้นทางเดียวนั้นไม่สะดวก ใช้เวลานาน และง่ายต่อการถูกโจมตี การก่อสร้างทางรถไฟระยะทาง 415 กิโลเมตร จากบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ถึงทันบูซายัต ในประเทศพม่า ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
สะพานข้ามแม่น้ำแควที่เราผ่านเมื่อครู่ ก็เป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางประวัติศาสตร์นี้ แต่เดิมมีสะพาน 2 แห่ง สะพานแรกทำด้วยไม้ สะพานที่สองเป็นสะพานเหล็ก ออกแบบเป็นโครงเหล็กครึ่งวงกลม มีทั้งหมด 11 ช่วงต่อมาใน พ.ศ. 2487 ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มส่งเครื่องบินทิ้งระเบิด บี 24 มาทำลายสะพาน แต่ไม่สำเร็จ จนเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 สามารถทำลายสะพานทั้ง 2 แห่งได้ แต่ญี่ปุ่นก็ได้ให้เชลยศึกซ่อมจนเสร็จ ไม่นานในเดือนเมษายนปีเดียวกัน สะพานไม้ก็ถูกทำลายอีกครั้ง ต่อมาในเดือนมิถุนายน สะพานเหล็กถูกทำลายตามมา หลังสิ้นสุดสงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ ทางรถไฟและสะพานแห่งนี้ตกอยู่ในครอบครองของกองทัพอังกฤษ ซึ่งต่อมากองทัพอังกฤษได้มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา
หากไปเที่ยวสะพานข้ามแม่น้ำแคว แล้วสังเกตดี ๆ จะพบว่ามีโครงสะพานที่ผิดแผกกว่าชาวบ้านอยู่ 2 ช่วง และนับอย่างไรก็ได้แค่ 10 ช่วง ไม่ใช่ 11 ช่วงอย่างที่ประวัติศาสตร์ว่าไว้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะโครงสะพานช่วงอย่างที่ประวัติศาสตร์ว่าไว้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะโครงสะพานช่วง 4 – 6 ที่ถูกทำลาย เป็นโครงเหล็กสะพานเก่าที่ถอดมาจากเกาะชวา แต่โครงเหล็กที่นำมาซ่อมแซมเป็นโครงเหล็กจากประเทศญี่ปุ่น มีรูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมู และขนาดยาวว่าช่วงสะพานเดิม จึงใช้โครงเหล็กสี่เหลี่ยมคางหมูแค่ 2 โครง ก็เพียงพอที่จะทดแทนโครงเหล็กครึ่งวงกลม 3 โครงที่เสียหายได้ ด้วยเหตุนี้สะพานข้ามแม่น้ำแควจึงมีรูปร่างอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
4. เล่าเรื่องสะพานเสียยาว ตอนนี้เรายังเดินทางไม่ถึงปลายทางเลย ระยะเวลาจากสถานีรถไฟกาญจนบุรีถึงปลายทางสถานีน้ำตก ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง ช่วงเลยสถานีโป่งเสี้ยวไปสถานีบ้านเก่า เป็นช่วงยามที่สวยงามมาก ดวงอาทิตย์กำลังลับเหลี่ยมเทือกเขาตะนาวศรี ที่ทอดตัวยาวโอบล้อมไร่มันสำปะหลังสลับทุ่งนาสีทอง มีฝูงแพะวิ่งไปมาหลายฝูง พอเลยจากสถานีบ้านเก่าไป ให้ตั้งรับกับกิ่งก้านใบของไม้สองข้างทาง ที่ฟาดเข้าโบกี้รถไฟให้ดี เผลอ ๆ ชะอมทั้งยอดอาจเข้าปากโดยไม่รู้ตัว แต่ก็เหมือนเป็นสัญญาณดี ๆ บอกว่าพื้นที่แถบนี้ยังสมบูรณ์นัก
19.00 น. เรากำลังเข้าสู่สถานีถ้ำกระแช นั่งรถไฟวิ่งเลียบหน้าผา ชมบรรยากาศแม่น้ำแควน้อยด้านซ้ายมือ คือไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของการนั่งรถไฟสายนี้ ก่อนถึงสถานีนิดเดียว สังเกตขวามือคือ ถ้ำกระแช ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นใช้เป็นที่กำบังและหลบหนีการโจมตีทางอากาศ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในถ้ำ
20.10 น. รถไฟวิ่งมาถึงปลายทางรางไม้หมอนที่สถานีน้ำตก "ตามเวลา" อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที เชื่อไหมว่าเป็นการนั่งรถไฟระยะสั้นที่ยาวที่สุด แต่ไม่น่าเบื่อเลยสักนาที ยิ่งวิ่งเข้าใกล้ปลายทางเท่าไหร่ อารมณ์ยิ่งย้อนไกลกลับไปหาอดีตมากเท่านั้น
สองข้างทางยังมากไปด้วยชีวิตหลากหลาย แต่ที่ทำให้ฉันยิ้มได้กว้างที่สุดตลอดทาง รู้ไหม ช่วงเวลาไหน ฉันรักช่วงเวลาที่เด็กริมทางรถไฟวิ่งออกจากบ้าน มาโบกมือพร้อมส่งยิ้มหวานให้คนบนรถไฟ พวกเขารอคอยที่จะทักทายคนไม่รู้จัก มันมหัศจรรย์นะ และน้ำตาซึมกับช่วงเวลาง่าย ๆ เมื่อคนบนรถไฟเดินลงไปสวัสดีและสวมกอดคนที่รอรับข้างล่าง ก่อนพาหนะที่พาพวกเขามาเจอกันจะเคลื่อนตัวจากไปอย่างช้า ๆ
5. คืนนี้เราพักกันที่หินตก ริเวอร์ แคมป์ รีสอร์ต ที่ตั้งอยู่ห่ามกลางบรรยากาศอบอวลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ทางเข้าที่ต้องวิ่งผ่านพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด ชื่อรีสอร์ตมาจากชื่อสถานีหินตก แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว ส่วนที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่เชื่อว่าเคยเป็นค่ายของทหารญี่ปุ่น เพราะยังมีร่องรอยของอุโมงค์ที่ทหารญี่ปุ่นไว้เก็บเสบียง มีทางใต้ดินเชื่อมไปถึงริมน้ำแควน้อย
ที่พักเป็นเต็นท์แคมป์หลังใหญ่ 32 หลัง เรียงเป็นรูปครึ่งวงกลมคล้ายรอบกองไฟ ตั้งอยู่ในวงล้อมของเขาหินตกและเส้นสายของแม่น้ำแควน้อย ครบครันด้วยเครื่องอำนวยความสะดวก แต่ปราศจากโทรทัศน์ เพราะมีเสียงธรรมชาติอย่างอื่นที่น่าฟังกว่ามาก เราสนุกกับการปั่นจักรยานชมชุมชนรอบ ๆ ตามคำแนะนำของ พี่จุ้ย รุ่งพันธุ์ ฐานรุ่งโรจน์ ผู้จัดการของที่นี่
ออกจากรีสอร์ตเลี้ยวขวา ปั่นบนถนนลูกรัง 1 กิโลเมตร ต่อด้วยถนนลาดยางอีก 1 กิโลเมตร ทางเรียบบ้างเป็นเนินเขาบ้าง พอให้ได้เหงื่อ เจอโรงเรียนบ้านหาดงิ้ว เลี้ยวขวาไปราว 100 เมตร จะพบ สะพานแขวนหาดงิ้ว สะพานแขวนข้ามแม่น้ำแควน้อย มองเห็นพระสรณโคดมและพระศรีอารยเมตไตรย์องค์โต ที่กำลังก่อสร้างจากปลายสะพานอีกด้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัดหาดงิ้ว หากเป็นนักท่องเที่ยวคนไทยหรือชาวเอเชีย การทำบุญตักบาตร ช่วงเช้าที่วัดหาดงิ้วถือเป็นกิจกรรมยอดฮิต
พี่ จุ้ย พาพวกเราไปสำรวจเขาลูกเล็ก ๆ ที่อยู่ภายในรีสอร์ต ชมวิว มุมสูงของตัวรีสอร์ต แม่น้ำแควน้อย และชุมชนใกล้เคียง แม้ระยะทาเพียง 500 เมตร แต่ก็เรียกเหงื่อพวกเราจนท่วม เพราะยังสร้างบันไดไม่เสร็จ ต้องปืนป่านหลายจังหวะ ลงจากเขาหากได้ลองว่ายน้ำสักนิด น่าจะเรียกความสดชื่นกลับคืน แม้แต่สระว่ายน้ำของที่นี่ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเช่นไรต้องลองไปใช้บริการและถามไถ่กันเอาเอง และยังมีความพิเศษ คือเป็นสระว่ายน้ำธรรมชาติ โดยใช้ท่อสูบน้ำจากแม่น้ำแควน้อยมาพักไว้ในแทงก์ แล้วต่อท่อส่งลงมาที่สระ ใช้ระบบน้ำล้น เช่นเดียวกับการสร้างฝาย น้ำจึงเย็นสบายเหมือนเล่นน้ำตก ปิดท้ายวันด้วยอาหารปิ้งย่างรอบกองไฟได้แสงจันทร์
6. Lest we forget บนพวงหรีดดอกไม้ ที่อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด เพิ่งผ่านพิธีกรรมของวันแอนแซค (ANZAC-Australian and New Zealand Army Corps) เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา
เวลารุ่งสางของวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2458 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลายกพลขึ้นบกของเหล่าทหารสหราชอาณาจักรอินเดีย ฝรั่งเศส ที่ชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรแกลลิโปลี เพื่อเปิดฉากยุทธการดาร์ดาเนลส์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้มีทหารของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เสียชีวิตจำนวนมาก วันนี้จึงถือเป็นวันสำคัญที่ได้ระลึกถึงทหารที่เสียชีวิตในสนามรบ
ในประเทศไทยจะจัดพิธีกรรมเช่นนี้ทุกปี โดยเริ่มพิธีกรรมช่วงเช้ามืดที่ช่องเขาขาด ก่อนจะมีพิธีวางพวงหรีดในช่วงบ่าย ที่ สุสานทหารสัมพันธมิตรตอนรัก ในตัวเมืองกาญจนบุรี เพื่อร่วมรำลึกเหตุการณ์สร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่มีเชลยศึกทั้งฝ่ายสัมพันธมิตรและชาวเอเชียเสียชีวิตจำนวนมาก
พิพิภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด ตั้งอยู่ในกองการเกษตรและสหกรณ์ กองกำลังทหารพัฒนา หากตั้งใจรับรู้เรื่องราวทางรถไฟสายมรณะไม่ควรพลาด ชีวิตเชลยศึกชาวออสเตรเลีย อังกฤษ ดัตช์ และอเมริกันกว่า 12,000 ชีวิต รวมทั้งแรงงานชาวเอเชียกว่า 60,000 ชีวิต คือที่มาของทางรถไฟสายนี้ อุปกรณ์เครื่องมืออันน้อยนิด ตัดหินผ่านภูเขา ระยะทาง 415 กิโลเมตร เวลา 17 เดือน ทำงานวันละ 12 – 18 ชั่วโมง ความอดอยากและโรคระบาด ล้วนคือความทรมานราวขุมนรก ที่เชลยศึกและแรงงานได้รับ ยิ่งในช่วงเวลากลางคืน ยามแสงไฟจากตะเกียงน้ำมันสาดส่องลงในช่องเขา กระทบร่างผอมโซของคนงาน เมื่อมองลงไปบรรยากาศไม่ต่างอะไรกับ "ช่องไฟนรก"” (Hellfire Pass) เครื่องมือบรรยายและหูฟังบริการฟรี มี 4 ภาษา ไทย อังกฤษ ดัตช์ และญี่ปุ่น ให้เลือกฟัง ช่วยให้แต่ละจุดมีรายละเอียดและเรื่องราวอย่างน่าสนใจ แม้บางช่วงจะเป็นเพียงทางเดินเลียบภูเขาเฉย ๆ ท่ามกลางป่าไผ่ก็กลับมีความหมายสำคัญต่อช่วงเวลานั้น
มีทางเดินให้เลือกหลายช่วงแล้วแต่ความสนใจ ใช้เวลาไปกลับตั้งแต่ 40 นาที ถึง 3 ชั่วโมง หากสนใจเดินระยะทางไกล ควรสวมรองเท้าที่กระชับ และพกน้ำดื่มติดตัวไปด้วย แค่คิดว่าระหว่างช่องเขาที่เรายืนอยู่ เขาเหล่านั้นใช้มือตอกและกะเทาะหินออกมา กับคำกล่าวที่ว่า "หนึ่งไม้หมอนคือหนึ่งชีวิต" เท่านี้ก็ทำให้เข้าใจความเจ็บปวดของพวกเขา และซึ้งกับคำว่าสงครามไม่เคยปรานีใคร
12,000 กว่าศพของเชลยศึก...พวกเขาได้ไปอยู่เคียงข้างพระผู้เป็นเจ้า และมีอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังระลึกถึง แล้ว 60,000 กว่าศพของแรงงานทาสชาวเอเชีย...ตอนนี้พวกเขาอยู่แห่งใด และมีอะไรให้ระลึกถึงพวกเขาบ้าง...เพื่อไม้ให้เราลืม (Lest we forget)
7. วันนี้ตั้งใจไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอไทรโยค โดยตั้งต้นจากสถานีน้ำตก ออกมาถึงทางหลวงหมายเลข 323 แวะ น้ำตกไทรโยคน้อย หรือ น้ำตกเขาพัง สายน้ำทิ้งตัวผ่านโขดหินปูนลดหลั่น สูงประมาณ 30 เมตร มีแอ่งน้ำเบื้องล่างเป็นพื้นที่ความสุขของนักท่องเที่ยว แม้นาทีนี้น้ำจะน้อย แต่ด้วยที่ตั้งแนบชิดทางหลวง ทำให้มีผู้คนแวะเวียนมาไม่ขาด ตรงไปทางไปอำเภอทองผาภูมิ ห่างจากน้ำตกไทรโยคน้อยประมาณ 33 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติไทรโยค กินพื้นที่กว่า 958 ตารางกิโลเมตร ของตำบลวังกระแจะ บ้องตี้ และลุ่มสุ่ม ของอำเภอไทรโยค และตำบลลิ่นถิ่น ของอำเภอทองผาภูมิ
ป่าสนสูงเสียดฟ้านับร้อยนับพันต้น ไม่มีไทรมาโยกให้เห็นดังชื่อ ร่มรื่น และเป็นพื้นที่ของครอบครัวเช่นเคย ข้ามสะพานแขวนที่ทอดข้ามแม่น้ำแควน้อย ไปชม น้ำตกไทรโยคใหญ่ แบบเต็มตา น้ำตกสูงประมาณ 8 เมตร ไหลจากลำห้วยลงแม่น้ำแควใหญ่โดยตรง มีน้ำไหลตลอดปี ฝั่งตรงข้ามยังมีแพร้านอาหารและเรือนำเที่ยวไว้บริการ ใกล้ ๆ เป็นน้ำตกไทรโยคเล็ก ลักษณะคล้ายกัน แต่มีขนาดเล็ก น้ำตกไทรโยคแห่งนี้ยังเป็นที่มาของเพลงเขมรไทรโยค ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์บรรยายความงามของธรรมชาติ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสใน พ.ศ. 2431
วกกลับเข้าทางหลวง ตรงไปเข้าเขตอำเภอทองผาภูมิ บริเวณตำบลหินดาด เป็นที่ตั้งของ พุน้ำร้อนหินดาด เราสามารถเล่นได้ทั้งน้ำเย็นและน้ำร้อนในที่เดียวกัน ด้านซ้ายมือคือบ่อน้ำเย็นที่ไหลมาจากน้ำตกหินคาด ส่วนขวามือคือบ่อพุน้ำร้อน 3 บ่อ บอกไว้ก่อนว่าบ่อตรงกลางร้อนที่สุด เพราะมีตาน้ำร้อนข้างล่าง ผู้ที่มาแช่ควรพกน้ำเย็นมาดื่มด้วย และต้องอาบน้ำเย็นก่อนและหลังแช่ตัว ผู้ที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรแช่เกิน 30 นาที และไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีประจำเดือนลงบ่อ
ปั่นจักรยาน ขึ้นเขา เดินป่า แช่น้ำร้อน นอนเล่นน้ำตกแล้ว ยังขาดมุดลงถ้ำ ในอำเภอไทรโยคมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำดาวดึงส์ ถ้ำแก้ว ถ้ำวังบาดาล แต่ครั้งนี้แนะนำให้ลองเที่ยวถ้ำละว้า ซึ่งหากสัญจรทางน้ำ ถ้ำจะอยู่ห่างจากน้ำตกไทรโยคใหญ่ประมาณ 20 กิโลเมตร ภายในแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ โอ่โถง มีทางเดินและไฟนำทางให้ งดงามด้วยหินงอกหินย้อยที่ยังไม่ตาย เพราะฉะนั้น ก่อนเข้าถ้ำนอกจากต้องสำรวจความพร้อมของตัวเอง เนื่องจากถ้ำลึก 485 เมตร และอากาศค่อนข้างร้อน ยังต้องระมัดระวังไม่ไปทำลายหรือสัมผัสหินงอกหินย้อย และสิ่งมีชีวิตในถ้ำโดยเด็ดขาด
จะว่าไป แหล่งท่องเที่ยวที่ว่ามานี้สามารถใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำได้โดยตลอด ประหยัดเวลากว่าทางบก ไม่ต้องอ้อมวกเข้าวกออก แต่อาจไม่คล่องตัวนักสำหรับคนที่ต้องการไปเที่ยวหลาย ๆ ที่ในคราวเดียว
8. คืนนี้ข้ามถนนมาพักที่ริเวอร์แคว รีโซเทล (แก่งละว้า) ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับถ้ำละว้า เพื่อที่เช้านี้จะได้ทำกิจกรรมสำคัญอีกอย่าง คือ ล่องแพเปียก จากที่นี่ลงเรือทวนกระแสน้ำไป 10 นาที ขึ้นที่เดอะริเวอร์แคว จังเกิลราฟท์ เดินเที่ยวชุมชนมอญด้านบน มี 25 ครอบครัว ประชากรประมาณ 200 กว่าคน แต่ก่อนพื้นที่แห่งนี้ข้าวของปล่อยรกร้าง จนชาวมอญเข้ามาถากถางทำกิน ครั้นเมื่อเจ้าของต้องการประกอบกิจการก็ไม่ได้ไล่ที่พวกเขา กลับจัดสรรพื้นที่ให้อยู่อย่างสบาย และนำพวกเขามาฝึกทำงานในรีสอร์ตอีกด้วย เรียกว่าที่ ริเวอร์แคว รีโซเทล (แก่งละว้า) และที่ เดอะริเวอร์แคว จังเกิลราฟท์ แรงงานและนักแสดงส่วนใหญ่ก็เป็นชาวมอญในหมู่บ้านนี่แหละ
บรรยากาศ ร่มรื่น ผู้คนยังคงมีวิถีของพวกเขาเอง มีบ้างที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับอาชีพ เช่น ต้องเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มไว้ใช้ทำงาน ชาวมอญที่นี่จึงพูดภาอังกฤษได้ปร๋อกันเกือบทุกคน มีศาลากลางบ้าน วัด โรงเรียน ร้านค้า สนามฟุตบอล โรงเลี้ยงข้าง พิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ เพียงพอที่หมู่บ้านเล็ก ๆ พึงมี วัดมอญสร้างจำลองจากวัดเสาร้อยต้นในพม่า มีเจดีย์ชเวดากองจำลอง ศาสนสถานที่เป็นนับถือของชาวมอญ และพระธาตุอินทร์แขวนจำลองที่ชาวมอญนับถือ สามารถเดินไปเที่ยวหรือนั่งข้างมาชมได้
ฉันหลงรักโรงเรียนที่สุด เด็ก 20 คน ปะปนอายุในชุดมอญ ปะทานาคาน่าชัง เรียนกันในโรงเรียนกลางธรรมชาติ เป็นอาคารมุงจากเปิดโล่ง เรียน 4 ภาษา (มอญ พม่า อังกฤษ และไทย) เรียนทุกวัน แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ไม่มีปิดเทอม หยุดเฉพาะวันพระ เพื่อให้เด็กไปทำบุญที่วัดกับครอบครัว ทั้งโรงเรียนมีคุณครูชันอูเพียงคนเดียว
หลังกลับจากหมู่บ้านมอญ เรามาล่องแพเปียกในแม่น้ำแควน้อย ที่ชื่อเช่นนี้เพราะในอดีต แพสร้างจากลำไม้ไผ่มาผูกติดกันยามนั่งน้ำจะเรี่ย ๆ ท่อนไม้ไผ่ทำให้คนนั่งเปียก แต่ปัจจุบันมีการเสริมแท่นเหล็กยกสูง นั่งอย่างไรก็ไม่เปียก นอกจากจะกระโดดลงน้ำ แล้วลอยคอตามน้ำกลับที่พัก
ก่อน เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟฟรีเพื่อประชาชน ขบวน 258 จบการเดินทางตามรางรถไฟกาญจนบุรี ที่พาหัวใจไปสัมพันธ์กับสายน้ำแควน้อย อย่างแรกทำให้เข้าใจความหมายของความสูญเสีย ในขณะที่อย่างหลังเข้ากันได้ดีกับนิยามของผู้ให้ สองอย่างเคลื่อนช้าพอกัน สองอย่างชวนเพลินพอกัน ภาวนา ณ ปัจจุบันจะไม่มีผู้ใด เพิ่มความหมายแห่งสายมรณะอีกต่อไป
คู่มือนักเดินทาง
การเดินทางครั้งนี้ เราใช้บริการรถไฟฟรีเพื่อประชาชน ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่มีเวลาละเมียดกับบรรยากาศ และไม่เร่งรีบจนเกินไป แต่หากต้องการเดินทางสบาย ๆ แนะนำให้ไปกับโปรแกรมการท่องเที่ยว ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่จัดทุกสัปดาห์ สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 1690 สายด่วนรถไฟ
รถไฟ
จากสถานีรถไฟธนบุรีไปสถานีน้ำตก มีรถเที่ยวปกติออกวันละ 2 ขบวน คือ ขบวน 257 ออกจากสถานีธนบุรี เวลา 07.50 น. ถึงสถานีน้ำตก เวลา 12.35 น. และขบวน 259 ออกจากสถานีธนบุรี เวลา 13.55 น. ถึงสถานีน้ำตก เวลา 18.30 น. ขากลับวันละ 2 ขบวน คือ ขบวน 260 ออกจากสถานีน้ำตก เวลา 05.20 น. ถึงสถานีธนบุรี เวลา 10.25 น. และขบวน 258 ออกจากสถานีน้ำตก เวลา 12.55 น. ถึงสถานีธนบุรี เวลา 17.40 น.
ที่เที่ยว
พิพิธภัณฑ์ แห่งความทรงจำช่องเขาขาด เปิดทำการเวลา 09.00 – 16.00 น. เปิดทำการทุกวัน ปิดวันที่ 5, 24 – 27, 31 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม ของทุกปี โทรศัพท์ 0 3453 1347 เว็บไซต์ www.dva.gov.au
อุทยานแห่งชาติไทรโยค มีที่พักบริการ สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 3468 6024
พุน้ำร้อนหินดาด นอกจากบ่อแช่ตัวรวมแล้วยังมีห้องแช่ส่วนตัว โทรศัพท์ 0 3453 1048
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น