ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
ชมธรรมชาติเขียวขจีที่ ทุ่งแสลงหลวง จ.พิษณุโลก (คู่หูเดินทาง)
แม้หน้าฝนปีนี้จะมาช้ากว่าทุกปี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทุ่งป่าเขียวขจีแห่งทุ่งแสลงหลวงลดน้อยความสวยงามไป คู่หูพาเที่ยวฉบับนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปที่ "อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง" พาขึ้นไปดูต้นสนสองใบและธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ ณ ทุ่งนางพญา
การเดินทางครั้งนี้มีความตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจอยู่ตลอดเวลา เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เราทีมงานคู่หูเดินทางมาเที่ยวยังที่แห่งนี่ ที่สำคัญอากาศค่อนข้างครึมมีฝนตกตลอดเส้นทาง แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสทุกอย่างมีสองด้านเสมอ เพราะการที่ฝนตกทำให้ตลอดเส้นทางการเดินทาง เราจะได้เห็นหมอกลอยนวลขาวอยู่บนยอดเขาใกล้ไกลตลอดทาง โรแมนติกมาก ๆ ประทับใจสุด ๆ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้วหน้าฝนก็มีความงดงามของธรรมชาติซุกซ่อนตัวอยู่เช่นกัน
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด คือ ท้องที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสภาพธรรมชาติ ทิวทัศน์ และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแหล่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก ทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่ หรือ 1,262.40 ตารางกิโลเมตร
สำหรับชื่อของ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง นี้ เป็นชื่อของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ของอุทยานฯ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ว่าการอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงประมาณ 60 กิโลเมตร สันนิษฐาน ว่าชื่อทุ่งแสลงมาจากชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งในทุ่งหญ้าแห่งนี้ คือ ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลสุกสีแสด คาดว่าในสมัยก่อนมีต้นแสลงใจขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีป่าหลายชนิด และสัตว์ป่าชุกชุม จึงตั้งชื่อว่า "ทุ่งแสลงหลวง" ให้สมกับเป็นพื้นที่ที่รวบรวมความหลากหลายของธรรมชาติไว้
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นภูเขาคล้ายหลังเต่า เป็นเทือกเขาหินปูนทอดเป็นแนวยาว มีจุดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยเข็กใหญ่ ห้วยเข็กน้อย ลำน้ำทุ้ม คลองชมภู และคลองวังทอง เป็นต้น ฤดูฝนอยู่ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นมากเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สนสองใบ มะม่วงป่า ประดู่ และทุ่งหญ้าที่เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่มีสนและไม้ดอกขึ้นสลับกันอยู่
สามารถมากางเต็นท์ได้ ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ทุ่งนางพญา และ ทุ่งโนนสน แต่ 2 ที่หลังนี้ไม่มีบริการไฟฟ้าและห้องน้ำอยู่กันแบบธรรมชาติล้วน ๆ ซึ่งการเดินทางไปแต่ละจุดนั้นต้องใช้รถที่มีประสิทธิภาพสักหน่อย ยิ่งเป็นรถขับเคลื่อน 4 ล้อยิ่งดี เพราะในช่วงหน้าฝนถนนค่อนข้างลื่นชัน กิจกรรมที่นิยมมากคือการขี่จักรยานเที่ยวชมธรรมชาติรอบ ๆ อุทยานฯ
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
ทุ่งแสลงหลวง
สำหรับ ทุ่งนางพญา นั้น จะอยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 14 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทางเกือบ 1 ชั่วโมง จากนั้นถ้าต้องการไปยัง ทุ่งโนนสน ต่อก็ต้องเดินทางเข้าไปอีก 18 กิโลเมตร ระหว่างทางเราจะได้พบ ต้นดอกกระเจียวขาว เอื้องชะนี เอื้องคำปากไก่ เฟิร์นชนิดต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อเราได้มายืนอยู่ท่ามกลางป่าทุ่งสนสองใบ เราจะได้ยินเสียงลม วีด วิ้ว อยู่ตลอดเวลา ขอบอกว่ามันเป็นเสียงที่บรรเลงโดยธรรมชาติล้วน ๆ
การ เดินทางครั้งนี้ ความโรแมนติกของบรรยากาศและสถานที่ พร้อมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทำให้ทุ่งแสลงหลวงในหน้าฝน เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกประทับใจมาก และในโอกาสต่อไปเราจะกลับมาเยือน ทุ่งแสลงหลวง นี้อีกครั้งในช่วงฤดูหนาว เพราะครั้งหน้าเราจะพาคุณมาชม ทุ่งแสลงหลวงในแบบฉบับพื้นป่าทุ่งหญ้าสะวันนาเมืองไทย พร้อมดอกไม้นานาพันธุ์
น้ำตกแก่งซอง
วัดราชคีรีหิรัญยาราม
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
น้ำตกแก่งซอง เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานทุ่งแสลงหลวง ด้านจังหวัดพิษณุโลก ทางหลวงหมายเลข 12 กม. 45 เกิดจากลำน้ำเข็กลดระดับทำให้ธารน้ำมีลักษณะเป็นน้ำตกมีขนาดใหญ่ ในช่วงฤดูฝนน้ำจะมีลักษณะสีน้ำตาลขุ่น แต่ในช่วงฤดูหนาวและร้อนเมื่อน้ำลดระดับลงน้ำจะมีสีขาวใส สามารถพายเรือคายัคเล่นได้
วัดราชคีรีหิรัญยาราม (เขาสมอแคลง) มาสักการะเจ้าแม่กวนอิมหยกขาว ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สูงถึง 3.5 เมตร สร้างมาจากหินหยกขาวชิ้นเดียว ได้รับการปลุกเสกจากวัดหยินธงเป่าเตี้ยน ประเทศจีน บริเวณโดยรอบวัดยังจัดสร้างองค์พระพุทธรูปสำคัญปรางค์ต่าง ๆ ประดิษฐาน เพื่อให้เป็นที่กราบไหว้สักการะของพุทธสากนิกชนชาวพุทธโดยทั่วไป
เจดีย์ยอดด้วน (เขาสมอแคลง) มี อายุราว 700 ปี พงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า พระยาจิตรไวย แห่งเจ้าเมืองน่านสร้างเจดีย์องค์นี้เพื่อบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์เถระ เจ้า คือ พระอุบาลีเถระและพระศิริมานนท์เถระ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ 2 รูปที่ได้รับนิมนต์เป็นประธานฝ่ายสงฆ์สร้างพระพุทธชินราช ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร มีการซ่อมแซมและบูรณะมาหลายครั้งแล้ว ลักษณะเจดีย์เป็นทรงลังกา มีฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 3 ชั้น หลังจากนั้นจะเป็นฐานย่อแปดเหลี่ยมแล้วขึ้นเป็นองค์ระฆัง ลักษณะเด่นของที่นี่คือบริเวณยอดเจดีย์องค์ระฆังจะมีเพียงแค่ครึ่งซีกเท่า นั้น
พระมหาธาตุเจดีย์ศรีบวรชินรัตน์ (เขาสมอแคลง) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 9 เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาความดีของบูรพมหากษัตริย์นักรบไทย ส่วนยอดที่เป็นดอกบัวของพระมหาธาตุเจดีย์นั้นได้บรรจุพระบรมธาตุ คือ พระนลาต (กระดูกส่วนหน้าผาก) และพระบรมสารีริกธาตุส่วนต่าง ๆ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โรงเจไซทีฮุกตึ๊ง ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย (เขาสมอแคลง) มีความวิจิตรสวยงามมาก มีจุดที่ให้ได้กราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง อาทิ เข้าเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ สักการะเจ้าแม่กวนอิมพันมือ เดินชมสวนสวรรค์แห่งเทพเจ้า พร้อมชมจุดชมวิวดอยสุเทพ 2 มอง ซึ่งสามารถมองเห็นทุ่งนา บ้านเรือนและบริเวณโดยรอบของอำเภอวังทอง
ทุ่งแสลงหลวง
Tips ข้อมูลการเดินทาง
การเดินทางไปทุ่งแสลงหลวง
โดยรถยนต์ส่วนตัวสามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง คือ ...
• เส้นทางแรก จากจังหวัดเพชรบูรณ์ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 21 ไปทางอำเภอหล่มสัก ระยะทางประมาณ 13 กิโลเมตร ถึงบ้านนางั่วแล้วเลี้ยวซ้าย ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2258 ขึ้นเขาค้อผ่านสี่แยกบ้านสะเดาะพงผ่านพระตำหนักเขาค้อ ตรงไปจนถึงบ้านทางตะวันเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงหน่วยจัดการอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวงที่ 1 (หนองแม่นา)
• เส้นที่สอง จากจังหวัดพิษณุโลกใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 12 เส้นพิษณุโลก-หล่มสัก ประมาณ 100 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่เขาค้อผ่านหน้าอำเภอเขาค้อ ถึงสี่แยกบ้านสะเดาะพงแล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2258 ผ่านพระตำหนักเขาค้อตรงไปบ้านทางตะวัน เลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงหน่วยจัดการอุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวงที่ 1 (หนองแม่นา)
โดยรถโดยสารประจำทาง
ทาง บขส. มีบริการมายบัส คือรถด่วนพิเศษไม่จอดระหว่างทาง วิ่งตรงจากกรุงเทพฯ - พิษณุโลก จากนั้นก็โดยสารรถประจำทางสายพิษณุโลก-หล่มสัก ลงรถที่บ้านแค้มป์สน กิโลเมตรที่ 100 แล้วว่าจ้างเหมารถสองแถวที่ปากทางแค้มป์สนไปยังหน่วยฯ หนองแม่นา สามารถสอบถามตารางเดินรถ บขส. ได้ที่ Call Center 1490
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ี่
อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ตู้ ปณ. 64 อ.เมือง จ.พิษณุโลก 65120 โทร. 0-5526-8019
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น