ตามรอยละคร รอยไหม แอ่ว คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ คุ้มวงศ์บุรี
ตามรอยละคร รอยไหม แอ่ว คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ คุ้มวงศ์บุรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ la liga fan, คุณ Noel086, คุณ noel086 และ youtube.com by CiNNtv1
จังหวัดแพร่…ขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดเก่าแก่ ที่มีตำนานเล่าขานถึงความรุ่งเรืองมายาวนาน อีกทั้งยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตเมื่อครั้งอดีตกาลไว้เคียงคู่กับปัจจุบันได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ ยังเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์อีกมากมาย โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมของอาคาร บ้านเรือน ที่มีตำนานและเรื่องราวที่เล่าขานสืบต่อกันมายาวนาน
และยิ่งละครยอดนิยมอย่าง "รอยไหม" ทางช่อง 3 หยิบยกเอาความสวยงามและอลังการของคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ และ คุ้มวงศ์บุรี มาใช้เป็นโลเกชั่นหลัก ทำให้หลาย ๆ คนอยากเดินทางไปสัมผัสกับความงดงามมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมเลยจะพาเพื่อน ๆ ไปยลโฉม พร้อม ๆ กับทำความรู้จัก คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ และ คุ้มวงศ์บุรี ให้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นค่ะ
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ในละคร รอยไหม
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ในละคร รอยไหม
มาเริ่มกันที่ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ หรือในละครรอยไหมคือ พิพิธภัณฑ์เก็ตถวา สถานที่นางเอกคือ "เรริน" แอบเข้าไปทอผ้า ตั้งอยู่บนถนนคุ้มเดิม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2435 โดย เจ้าหลวงพิริยชัยเทพวงศ์ (พระยาพิริยวิไชย) คุ้มแห่งนี้เป็นอาคารโอ่โถง มีประตู หน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น ซึ่งมีรูปทรงเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น
หลังคามุงด้วยไม้ เรียกว่า "ไม้แป้นเกล็ด" ไม่มีหน้าจั่วเป็นแบบหลังคาเรือนปั้นหยา มีมุขสี่เหลี่ยมยื่นออกมาด้านหน้าของตัวอาคาร หลังคามุขมีรูปทรงสามเหลี่ยม ทั้งปั้นลมและชายคาน้ำรอบตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างสวยงาม เป็นฝีช่างชาวจีนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น มุขด้านหน้าตัวอาคารแต่เดิมมีบันไดขึ้นลงทั้ง 2 ด้าน คือด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ (ปัจจุบันรื้อออกแล้ว) คงเหลือบันไดขึ้นลงเฉพาะด้านหน้าและด้านหลังเท่านั้น ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูน มี 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็ม แต่ใช้ไม้ซุงท่อน ส่วนใหญ่เป็นไม้แก่น ไม้แดง และไม้เนื้อแข็ง รองรับฐานเสาทั้งหลัง
ภายใต้ตัวอาคารซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ 2 เมตร มีห้องสำหรับคุมขัง ข้าทาส บริวาร ซึ่งกระทำความผิด จำนวน 3 ห้อง ห้องกลางเป็นห้องทึบ แสงสว่างสาดส่องเข้าไปไม่ได้เลย ใช้เป็นที่คุมขังข้าทาสบริวารที่กระทำความผิดร้ายแรง ส่วนอีก 2 ห้อง ปีกซ้ายและปีกขวา มีช่องแสง ให้แสงสว่างเข้าไปได้บ้าง ใช้เป็นที่คุมขังผู้มีความผิดชั้นลหุโทษ เป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปี จนกระทั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาส คุกทาสจึงกลายมาเป็นที่คุมขังนักโทษทั่ว ๆ ไปของเจ้าเมือง หรือข้าหลวงในสมัยต่อ ๆ มา ต่อมามีการสร้างเรือนจำเมืองแพร่ขึ้นใหม่ คุกแห่งนี้จึงว่างลง หลงเหลือไว้เพียงตำนาน
ขณะเดียวกัน คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ยังกลายเป็นที่ตั้งของกองทหารม้าจากกรุงเทพฯ ที่ส่งมารักษาความสงบเรียบร้อยในเมืองแพร่อยู่ระยะหนึ่ง บริเวณใกล้ ๆ คุ้มเจ้าหลวงเคยมีคอกม้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จากนั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2455 ได้ดัดแปลงเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชาย คือ "โรงเรียนพิริยาลัย" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าหลวงแพร่องค์สุดท้าย แต่ต่อมาโรงเรียนก็ได้ย้ายไปอยู่ที่ถนนยันตรกิจโกศล ส่วนคุ้มเจ้าหลวงก็กลายเป็นจวนหรือบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จนเมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ได้มอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ดูแล มีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ คุ้มเจ้าหลวง หลังนี้ยังเคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2501 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบัน และสาธารณะ ประจำปี 2540
ปัจจุบัน คุ้มเจ้าหลวง เปิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าชมเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา โดยไม่เสียค่าเข้าชม!
คุ้มวงศ์บุรี ในละคร รอยไหม
สำหรับ บ้านวงศ์บุรี หรือ คุ้มวงศ์บุรี หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า "บ้านสีชมพู" เรือนหลังงามของ "เจ้านางมณีริน" นางเอกในอดีตชาติ ตั้งอยู่ที่ถนนคำลือ (ถนนหลังจวนผู้ว่า สี่แยกพระนอนเหนือ) ใกล้กับวัดพงศ์สุนัน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2440 ตามดำริของ แม่เจ้าบัวถา มหายศปันยา ชายาคนแรกในเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ โดยมอบหมายให้ หลวงพงษ์พิบูล (เจ้าน้อยพรม) และ เจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ธิดาเจ้าบุรี (พระยาบุรีรัตน์) น้องชายของแม่เจ้าบัวถา จัดหาช่างฝีมือทั้งไทยและจีนมาร่วมกันก่อสร้างเรือนหลังนี้
จากนั้นอีก 3 ปี บ้านวงศ์บุรี ได้สร้างเสร็จสวยงามตามรูปแบบงาน สถาปัตยกรรมสมัยนิยมในยุค รัชกาลที่ 5 เป็นบ้านทรงปั้นหยา 2 ชั้น ฐานเป็นอิฐและซีเมนต์สูงจากพื้น 1 เมตร มีเพดานสูง หลังคาสูง มีช่องระบายลมระหว่างชั้นทั้งสอง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเนื่องจากบ้านหันหน้าเข้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จึงมีลมพัดเย็นในฤดูร้อน
จุดเด่นของอาคารนี้คือลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม ชายน้ำ หน้าต่าง และประตู ที่ประตูด้านหน้าเป็นปูนปั้นรูปแพะ ซึ่งเป็นตัวแทนของหลวงพงษ์พิบูลย์และแม่เจ้าสุนันทา เพราะท่านทั้งสองเกิดในปีแพะ และสีที่ใช้โดยรวมจะเป็นสีชมพู เนื่องเพราะเป็นสีโปรดของ แม่เจ้าบัวถา ต่อมาได้มีการซ่อมแซม แต่ลวดลายแกะสลักยังคงเป็นของเดิม ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส
ทั้งนี้ บ้านวงศ์บุรีได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2536 ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง และตีพิมพ์ในหนังสือต่าง ๆ นอกจากนี้ บ้านวงศ์บุรีได้จัดกิจกรรมเสริม คือการจัดขันโตกสำหรับชาวไทยและต่างประเทศที่มาเป็นคณะซึ่งต้องติดต่อล่วงหน้า โดยเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 5462 0153
นั่นแน่! เริ่มอยากไปยลโฉมความงดงามของ คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ และ คุ้มวงศ์บุรี กันแล้วใช่ไหมล่ะ ดังนั้น หากมีเวลาไม่ควรพลาดแวะเวียนไปสัมผัสกันนะคะ