บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

ดอกคำใต้ เชียงคำ เชียงของ ศรัทธา ภูเขา และรูปเงาแม่น้ำ

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ภูชี้ฟ้า

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

ท่องเที่ยว

เชียงของ

เชียงของ


ดอกคำใต้เชียงคำเชียงของศรัทธา ภูเขา และรูปเงาแม่น้ำ (อสท.)

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร...เรื่อง
สาธิต บัวเทศ...ภาพ

          วันหนึ่งที่ขับรถอยู่บนถนนสายเล็ก ๆ เส้นหนึ่งของ "พะเยา" ผมมีโอกาสได้รับรู้ว่าคุณค่าของมันไม่ได้เป็นแค่เส้นทางสัญจร ใช่ มันทำให้เราและพวกเขาได้มีโอกาสมาพบเจอกัน ผมหมายถึงสิ่งที่เรียกว่าความแตกต่างอันหลากหลาย ซึ่งใครก็ตามที่ได้สัมผัสควรต้องทำใจยอมรับ ทั้งการคงอยู่อันมีค่า หรือสิ่งที่เราคาดหวังไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง

          ถนน บางช่วงโอบล้อมด้วยดอกไม้แห่งฤดูหนาว สวยพราว มีมิติ บางช่วงก็สูงชันและโหดร้ายกับกำลังเครื่องยนต์คันเล็ก แต่ก็แลกมาด้วยวิวกระจ่างตา ขณะบางกิโลเมตรก็ทอดขนานไปกับแม่น้ำ สวยงาม อบอุ่น

          6 วัน บนเส้นทางจากอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา พาดผ่านคดโค้งของภูเขาไปจนจดริมขายแดนไทย-ลาว ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผมและเพื่อนร่วมทางมีโอกาสได้ "เรียนรู้" ว่าที่แท้แล้วนิยามของถนนนั้น แทบไม่แตกต่างกับจิตใจคนรายทาง หลากหลายเอกลักษณ์ เป็นตัวของตัวเอง และพร้อมจะเปิดเผยกับผู้ที่ผ่านพาตัวเองเข้ามา ทำความรู้จักอย่างใกล้ชิด

ถนนศรัทธา

          ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1021 พาเราออกจากเมืองพะเยาที่แยกแม่ต๋ำ ถนนเล็กลงและน้อยการสัญจรต่างจากเส้นทางหลัก ฟ้าสีสดต้นฤดูหนาวฉายชัดเข้มคราม นาข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยวเมื่อปลายฝน คล้ายกระดาษสีน้ำตาลอ่อนแผ่นกว้าง ที่มีรอยวาดยุ่งเหยิงตามผืนตาราง ว่ากันว่าเมืองโบราณอย่างพะเยานั้นเงียบสงบ งดงามด้วยขุนเขาผู้คน และสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา ภาพเช่นนั้นปรากฏในลมหนาวและแดดสายบนเนินเขาเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของ อำเภอดอกคำใต้

          วัดพระธาตุแสงแก้วมงคล วางตัวอยู่อย่างเงียบสงบ นิ่งเย็น เราแยกขวาจากถนนสายหลัก ผ่านบ้านจำไก่ไล่มาจนถึงบ้านสันโค้ง ตัดผ่านนาข้าวปลายฤดูและผู้คนอันเป็นมิตรริมทาง สังเวชนียสถานจำลองสวยสดกลางแดดสาย หากนั่นไม่สำคัญเท่ากับ "บรรยากาศ" แสนสงบรายรอบ เณรน้อยในจีวรเหลืองกวาดลานวัดที่มีเพียงเศษใบไม้ร่วง ไร้ความสกปรกอื่นใด สล่าโบราณซ่อมแซมส่วนประดับหลังวิหารเก่าอยู่ตรงหน้า และชายชรานบมือขอพรตุ๊เจ้าอยู่ด้านใน ภาพตรงหน้ายิ่งใหญ่พอ ๆ กับขุนเขาที่รายล้อมพื้นที่แห่งนี้

          บ่ายหัวรถทวนเขาขึ้นไปอีกไม่ไกล วัดพระธาตุหลวงจำไก่ และ พระธาตุน้อยจำไก่ โดด เด่นอยู่บนยอดเขา รอบด้านคือป่าชื่น แม้จะอยู่ห่างไกลจากถนนค่อนข้างมาก แต่ชาวบ้านดอกคำใต้ไม่เคยปล่อยให้ศาสนสถานแห่งนี้ร้างไร้ และทรุดโทรม พวกเขามาสักการะพระธาตุเล็ก ๆ นี้ทุกวันพระ

          บนยอดดอยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของพะเยา แยกออกจากถนนสายหลัก ทางลาดยางอย่างดีเข้าถึงชีวิตของคนที่นี่ เปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น กาลเวลาเปลี่ยนรูปแบบชีวิตไปอย่างไม่รอคอย แต่ดูเหมือนว่ากับสิ่งที่อยู่ข้างใน มันไม่ได้แตกต่างไปสักเท่าไรนัก

          ราว 20 กิโลเมตร เรามุ่งหน้าจาก อำเภอดอกคำใต้ ไปสู่ อำเภอจุน ถนนยังคงราบเรียบอย่างที่มันเป็นมาเนิ่นนาน หากแต่สองข้างทางคือความงดงามโรแมนติก ฟ้าสีเข้มยิ่งดูงดงามเมื่อตัดกับสีส้มสดใสของดอกทองกวาว ที่ยืนต้นเรียงราย และแตกดอกรอรับปลายฤดูหนาว รอบด้านรื่นรมย์ ขณะนี้ความเร็วรถดูเหมือนไม่ใช่สิ่งจำเป็น โลกนอกบานกระจกดูจะสวยหวานและเป็นจริงเป็นจังมากกว่า คนพื้นเมืองเหนือเรียกทองกวาวว่า "กวาว" หรือ "ก๋าว" ขณะที่คนอีสานเรียกไม้ดอกสีแสดนี้ว่า "ดอกจาน" ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากอินเดียวผลิดอกเป็นช่อประดับต้นที่สูงราว 15 เมตร เปลี่ยน "ภาพทางตา" ให้เป็นสีสวยเมื่อแดดอ่อนสะท้อนจับ

          ก่อนถึงอำเภอจุน ใครสักคนชวนให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปสู่ความขรึมขลัง เก่าแก่ ผมขับตามทางแยกเข้าไปอีกไม่ไกล เมื่อเข้าไปถึงเขต วัดศรีปิงเมือง ในเขตบ้านลอ ความเป็นอยู่ของคนที่นี่ราบเรียบ นาข้าว ไร่ข้าวโพดสะท้อนชีวิตเกษตรกรรมอันเป็นทิศทางหลัก อาจคล้ายกับที่มันเคยเป็นมา เราอยู่ในเขตโบราณสถานเวียงลอ แผ่นดินโบราณที่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับตำนานรักอันแสนเศร้าของพระลอ พระเพื่อน และพระแพง ในเรื่องเล่าของคนล้านนา ผู้เฒ่าผู้แก่เชื่อกันว่า ณ ตำบลที่เรายืนอยู่นี้ คือที่ตั้งของเมืองแมนสรวงอันล่มสลายของพระลอ

          องค์พระธาตุเก่าแก่ของ วัดศรีปิงเมือง คร่ำ คร่าสะท้อนอายุของเมืองโบราณ ที่นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 500 - 600 ปี จากการขุดค้นพบแนวกำแพงเมือง พระพุทธรูปหินทราย และซากโบราณสถาน วัดร้าง กว่า 72 แห่ง ทำให้รู้ว่า พื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้นั้นแสนเก่าแก่ และเคยรุ่งเรืองในอาณาจักรล้านนาสมัยพ่อขุนงำเมือง ที่ท้ายวัด ลำน้ำจุนไหลมารวมกับลำน้ำอิง คนที่นี่เรียกกันว่า "สบอิง" มันทอดโค้งหายลับไปตรงปลายตา เสริมให้ภาพตรงหน้ายิ่งดูลึกลับเก่าแก่ น่าทำความเคารพ

          ผมแวะเยี่ยมแม่อุ๊ยสี่ห้าคนตรงหน้าวัด ขนมดอกจอกแผ่กลีบเปลี่ยนจากสีขาวเป็นน้ำตาลนวล เมื่อสุกจากกระทะน้ำมัน พวกเธอดูไม่เร่งร้อน ขณะที่ทำมันอย่างชำนาญ จุ่ม ทอด คีบ ยก เลื่อนไหลราวเครื่องจักรอันมีชีวิต

          "เอาไปลองชิมดูเต๊อะ" แม่อุ๊ยคนหนึ่งยื่นขนมให้เราด้วยน้ำใจ

          เราพูดคุยกันเรื่องความเป็นอยู่ และผ้าทอผืนสวยของพวกเธอเพียงสักครู่ ด้วยหนทางนั้นยังทิ้งปลายทางไว้อีกยาวไกล ที่นี่คือเมืองในตำนานของคนพะเยา เมืองที่ตกทอดชิ้นส่วนประวัติศาสตร์มากมายในชั้นดิน บางอย่างเหลือเพียงเรื่องเล่า บางอย่างเป็นเพียงศิลปวัตถุที่บางคนอาจไม่รู้ที่มาที่ไป แต่กับภาพปัจจุบันตรงหน้าที่จากมา ความจริงอันราบเรียบ เป็นกันเอง และเปี่ยมมิตรภาพล้วนมีความหมาย

          ถนนสายเดิมพาเราจากอำเภอจุน มุ่งทวนทิศเหนือขึ้นไปสู่ เชียงคำ อีก หนึ่งอำเภอใหญ่ของพะเยา ที่เติบโตมาด้วยวัฒนธรรมผสมผสาน หลากหลายผู้คน และเคยเรืองรุ่งอยู่ในยุคการทำไม้เฟื่องฟู ลัดขึ้นที่สูงต่างระดับอยู่อีกไม่นาน ความเป็นเมืองกลางหุบเขาก็รอเราอยู่เบื้องล่าง แม้จะเคยเรืองรุ่ง แต่ต่ที่นี่ก็นับว่าห่างไกล เช่นนั้นเองหย่อมย่านของเชียงคำ จึงมากด้วยความสุขสงบอันเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด ผู้คนทั้งไทยเมือง ไทยลื้อ และไทยใหญ่ อยู่ร่วมกันภายใต้วงล้อมของขุนเขามาเนิ่นนาน

          ถนนเข้าสู่อำเภอยิ่งบีบเล็ก และแทรกความคึกคักมีชีวิตชีวาไว้อย่างถึงที่สุด เพื่อนร่วมทางอยากไปเห็นวัดไทยใหญ่อันอ่อนช้อยด้วยเครื่องไม้อย่าง วัดนันตาราม ที่เก่าแก่กว่า 150 ปี เมื่อเบนหัวเข้าไป ก็ทำเอาคน "ห่างวัด" อย่างเราต้องตกตะลึง ตามคติของวัดไทยใหญ่ ที่ทั้งวิหาร กุฏิ และส่วนอื่น ๆ ของวัดจะเชื่อมต่อกันเป็นหมู่ ทั้งหมดงามวิจิตรด้วยงานไม้ที่มาจาก "มือ" หลังคาทรงเจตบุนมุงแป้นเกล็ดยกช่อเป็นชั้น ลดหลั่นงดงามยามแดดฉายจับ

          เมื่อเข้าไปใน "จอง" ทั้ง 3 หลัง ที่เรียงต่อกัน ความวูบวาบสวิงสวายกับการก่อสร้างภายนอกกลับเงียบเชียบ เหลือเพียงความงดงามขององค์พระพุทธปฏิมาประธาน ที่ทรงเครื่องแบบไทยใหญ่ งานฉลุตามซุ้มประตูหน้าต่างย้อนแสงเป็นเงาดำสวย ว่ากันว่าคนไทยใหญ่ในเชียงคำที่หลงเหลืออยู่ คือกลุ่มที่แต่งงานอยู่กินกับคนไทยลื้อและไทยเมืองที่นี่ หรือพวกที่ทำงานอยู่กับบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ของอังกฤษ ไม่ได้ถูกอพยพกลับไปยังถิ่นกำเนิดของตน ครั้งหลังเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมื่อปี พ.ศ.2445 พวกเขาปักหลักอยู่ร่วมและทำนุบำรุง สิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา เคียงคู่คนเชียงคำมาเนิ่นนาน แม้จะต่างกันในรูปแบบศิลปะ แต่ภายในนั้นไม่แตกต่าง

          ออกจาก วัดนันตาราม แดดปลายบ่ายเปลี่ยนเชียงคำทั้งเมืองให้น่ามอง ใน วัดพระธาตุสบแวน พระธาตุประจำเมืองเชียงคำนั้นเงียบสงบ ข้างหน้าเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยลื้อ บ้านไม้ยกสูงที่ใต้ถุนเรียงรายอยู่ด้วยกี่ผ้าทอค้างผืน ใกล้กันเด็กหญิงของโรงเรียนสวม "เสื้อปั๊ด" ปาดเฉียงผูกเอว นุ่งซิ่น โพกผ้าสีขาว สีชมพู อันเป็นเอกลักษณ์ วิ่งเล่นเคียงคู่กับเด็กชายที่ใส่เสื้อกั๊กปักเลื่อม พร้อมกางเกงหม้อห้อมขายาว

          พวกเขาวิ่งเล่นอยู่ใต้เงาครึ้มของต้นจามจุรี ว่ากันว่าสวยที่สุด มันแผ่นกิ่งก้านและรูปทรงเหมาะกับผู้คนและแผ่นดินโบราณแห่งนี้ ถนนเล็ก ๆ หน้าวัดเรียงรายอยู่ด้วยบ้านเรือนไทยลื้อที่ เปลี่ยนแปลงปรับปรุงไปตามการทรุดโทรมและวันเวลา แต่บางหลังก็คงเดิมเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงบนลานกว้าง มุงหลังคาแป้นเกล็ดไม้สัก และชีวิตเนิบช้าของผู้เฒ่าผู้แก่ข้างใน ที่นั่งมองความเป็นไปออกมานอกบ้านอย่างเงียบ ๆ

          และเมื่อเข้าไปในวัดไทยลื้ออีกแห่งของเชียงคำอย่าง วัดแสนเมืองมา ไม่ เพียงวิหารไม้สักทองที่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้อยคำของใครบางคนข้างในนั้น ก็ทำให้ผมรู้ถึงการมีอยู่จริงของคำว่า "ศรัทธา" แสงเย็นส่องลอดเข้ามาไล้จิตรกรรมฝาผนังของวัดแสนเมืองมาจนมีมิติ ชายหนุ่มคนหนึ่งนั่งอยู่บนนั่งร้านเหล็ก กลิ่นสีอะครีลิกลอยล่องเคล้ากับควันธูปที่หน้าพระประธาน

          "เขียนมาหลายปีแล้วครับ ทำไปเรื่อย ๆ คล้ายดูแลบ้านของเรา" เขาว่านิ่ม ๆ แบบสำเนียงคนเหนือ

          ตามผนังรอบด้านวิหาร ปรากฏจิตกรรมฝาหนังเล่าเรื่องราวการมาปักรกฝังราก ของคนไทยลื้อในเชียงคำ บางผนังเป็นเรื่องราวองการเกษตร พิธีกรรม หรือกระทั่งผู้หญิงนุ่งชิ้นลายน้ำไหล และบ้านเรือนไทยลื้อกลางหุบเขา

          "บางอย่าง บางตำนาน เราไม่รู้ก็ถามพ่อเฒ่าแม่เฒ่าครับ ในจารึกใบลานบ้าง หนังสือบ้าง" เขาว่ามันไม่ง่ายเลยกับงานสเกลใหญ่เช่นนี้ "น่านับถือสล่าโบราณครับ บางเทคนิคที่เห็นใกล้ ๆ ไม่ชัด แต่ไกล ๆ ชัดนั้นยิ่งยาก โบราณเขาเรียกให้ "อากาศกิน" ถึงจะลงตัว"

          งานจิตรกรรมของเขาไม่ใช่แบบ 2 มิติ หรือแบน ๆ แบบตามขนบโบราณ มีความลึก เส้นนำสายตาแบบ "ฝรั่ง" อย่างที่เข้าสู่สังคมไทยหลังสมัยรัชกาลที่ 5 "แต่เรื่องราวและความชัดเจนล้วนมาจากโบราณครับ" เขาพูดด้วยแววตาเปี่ยมความเคารพ นาทีนั้น หลายอย่างรอบด้านเปลี่ยนแปลง ถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน แม้แต่บางแววตาของผู้คน กับเมืองเล็ก ๆ กลางหุบเขา ผู้คนผสมกลมกลืน เมื่อใครสักคนค้นพบว่า หากข้างในยังเปี่ยมด้วยศรัทธา เปลือกนอกอันแตกต่างหลากหลายก็ไร้ความหมาย

ภูเขาคงทน

          ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1093 แยกขวาออกมาจากเชียงคำ รอบด้านร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ อากาศเย็นและฤดูหนาวทำให้รอบด้านสวยงามเป็นพิเศษ ผู้คนเริงร่าออกเดินทาง ภูเขาและสายลมดูจะเป็นคำตอบที่หลายคนดั้นดันขึ้นไปหา ถนนกลายเป็น "ตัวแทน" ของการเชื่อมโยงคนข้างบนและข้างล่างให้ติดต่อกัน

          เราผ่านน้ำตกภูซางในเขตอุทยานแห่งชาติภูซาง สายน้ำโปรยตัวเป็นม่านขาวไหลลงสู่แอ่งเบื้องล่าง แลนด์สเคปถูกตกแต่งอย่างน่านั่ง ผู้คนจอแจขวักไขว์ในวันปลายสัปดาห์ ร้านอาหารและลานหญ้ามากมายด้วยสีสัน นาทีที่เราผ่าน จุดผ่อนปรนชายแดนไทย-ลาว บ้านฮวก นั้นไม่ใช่วันที่ 1 หรือ 30 ของเดือน หย่อมบ้านเรือนและพื้นที่ที่กันไว้ เพื่อการซื้อขายสินค้าดูเงียบเหงา

          "หากมาวันตลาดสินค้ามากมาย ของสด พืชผลจากลาวเยอะแยะ ทางฝั่งเราก็สนุก เอาข้าวของมาขาย" เฒ่าชราว่า เอากับภาพอยู่กินร่วมตรงชอบแดนที่เกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่ง

          ถนนไต่ความชันขึ้นไปบนภูเขา รายทางคือบ้านเรือนของพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง รถกระบะและบ้านไม้ที่คงทนแน่นหนาบอกถึงชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา กะหล่ำปลีและข้าวโพดเรียงราย ยังไม่นับบ้านพักรีสอร์ตที่พวกเขาสร้างไว้รองรับนักท่องเที่ยว อันมีจุดขายที่ความหนาวเย็นและไอหมอกในยามเช้า ดูเหมือนหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปจากการรับรู้ของผู้คน ทั้งข้างบนนี้และเบื้องล่างมาได้เนิ่นนาน

          จากพื้นที่ภูเขาที่ทอดผ่านเป็นชายแดนยาวโดยเรียกรวมว่าเทือก ดอยยาว-ดอยผาหม่น ที่ครั้งหนึ่งเคยดังก้องด้วยเสียงปืน และความแตกต่างทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐบาล และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ความทุกข์ยากแร้นแค้น รวมถึงความ "ไม่เป็นธรรม" ที่คนข้างบนได้รับ ก่อเกิดเป็นสงครามยืดเยื้อยาวนาน พื้นที่แถบพะเยา เชียงราย อันเป็นขอบแดนสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอดีต คือ "เส้นทาง" และหนึ่งในฐานที่มั่นที่ พคท. ใช้เป็นแหล่งรวบรวมผู้คน พี่น้องชาวไทยภูเขาเข้าร่วมต่อสู้

          ภูเขายังคงความงดงาม หากทะเลหมอกและดอกไม้มีให้เห็นแต่ในดวงตาของ "คนบนภูเขา" และถูกปิดบังอยู่ด้วยสงคราม ความขัดแย้งยึดเยื้อยาวนานท่ามกลางเขตภูเขา กองกำลังทหารจีนยูนนานจากกองพล 93 ที่อพยพเข้าสู่ชายแดนไทยในเชียงใหม่ในส่วนกองพันของ นายพลหลี่ เหวิน ฝาน ถูกเกณฑ์มาร่วมรบให้รัฐบาลที่เขตดอยผาตั้ง หลักสิ้นสุดสงคราม ผู้คนปักหลักใช้ชีวิตต่อบนเทือกดอย ทั้งพี่น้องจีนยูนนานและชาวไทยภูเขา

          เราหาที่พักเล็ก ๆ ได้ในวันที่ วนอุทยานภูชี้ฟ้า เนืองแน่นไปด้วยผู้คน หมู่บ้านพักเรียงรายอัดแน่นอยู่ตามไหล่เขาของบ้านร่มฟ้าไทย อาหารการกินมามายเรียงรายสองฟากถนน ลมเย็นกระโชกแรง อากาศเริ่มลดอุณหภูมิ ยังไม่ค่ำ เพื่อนร่วมทางชวนให้ทิ้งด้านบนไว้ก่อน ไต่ความคดเคี้ยวสูงชันเลยไปทาง ดอยผาตั้ง แอบรถเข้าไปในเขตของ โครงการฟาร์มเลี้ยงแกะและสัตว์ปีก ตามพระราชดำริ บ้านร่มฟ้าทอง เมื่อเข้าไปถึงสันดอยไล่ลีกลงไปในหุบเป็นวิวสวยงาม คอกแกะสะอาดสะอ้าน ข้างในมีเสียงร้องราวเด็กอ่อนร้องกินนมแม่

          สุริโย โพธิอิน และคนงานชาวม้งอีกสองสามคนง่วนอยู่กับการ "ประคบประหงม" ทั้งแกะ เป็ด และไก่ ที่ต่างก็ล้วนมีจุดมุ่งหมาย ที่ช่วยเหลือความเป็นอยู่ของผู้คนแถบเทือกดอย

          "แกะเลี้ยงตัดขนครับ 6 เดือนตัดที เอาไปให้ชาวบ้านทอผ้า แถบบ้านห้วยหานน่ะครับ" ยังไม่รวมเป็ด ไก่ ที่ทางโครงการฯ เพาะลูกพันธุ์เพื่อแจกให้ชาวบ้านรายรอบ "ทำกันไม่กี่คนครับ แต่เพื่อหลาย ๆ คน" เขาบอกกับเราง่าย ๆ แต่มันสื่อสารถึงโลกในอุดมคติอันมีอยู่จริงกลางหุบเขา โลกที่เอื้อเฟื้อ ดูแล และอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น

          เราเลาะไปเยือน ดอยผาตั้ง กันในยามเย็น ทางเดินขึ้นสู่สันปันน้ำที่กั้นเขตไทย-ลาวนั้น เย็นสบายด้วยลมและแดดอุ่น เด็กน้อยเชื้อสายลีซอพาเราสวนความสูงขึ้นไปชมวิวกระจ่าง "ช่องผาบ่อง" ที่เป็นจุดขึ้นลงระหว่างสองดินแดนเหลือเพียงแนวสนามเพลาะ และช่องหินให้จ้องมองความสมบูรณ์ของป่าไม้ในแขวงไชยะบุรีของฝั่งลาว

          แนวทางเดินดินเล็ก ๆ ไล่ไปตามเนินเขา ที่ "เนิน 102" และ "เนิน 103" คือจุดที่ขึ้นไปมองเห็นวิว 360 องศา ของทั้งสองประเทศ แม่น้ำโขงคดโค้งอยู่ลิบตา "ที่นี่ทะเลหมอกสวยไม่แพ้ภูชี้ฟ้าครับ" หนุ่มน้อยพูดเจื้อยแจ้ว "แวะกินอาหารยูนนานหรือซื้อของฝากก่อนนะครับ ซื้อบ๊วย ท้อ ชา ก็ได้ครับ เราปลูกกันเอง" เขาพูดไทยยังไม่ค่อยชัด ทว่า กำลังสื่อสารถึงอีกรูปแบบหนึ่งของการดำรงชีวิต ที่คนรุ่นปู่ย่าเคยผ่านพ้น ปรับเปลี่ยน และกำลังดำเนิน นาทีนั้นภูเขาไม่ได้ห่างไกล และผู้คนข้างบนอาจไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่เคยเป็นมา

          ตีสี่ครึ่ง…ผมและผู้คนในชุดกันหนาว เดินกันขวักไขว่ที่บ้านร่มฟ้าไทย ขบวนรถปิกอัปของชาวบ้านทยอยพาผู้คนในชุดกันหนาว รวมกันที่ตีบ ภูชี้ฟ้า ฟ้ายังมืดสนิท ดาวระยิบ หากเสียงคนจอแจราวงานรื่นเริง เราเริ่มเดินขึ้น ภูชี้ฟ้า กลางความมืดและอากาศหนาวเหน็บ ยืนนิ่งกลางลมเย็นเสียดผิว แสงส้มแดงเริ่มแตะตีนฟ้า ละลายแสงดาวให้เลือนหาย ฟ้าเปลี่ยนจากสีบลูสู่แดงเรื่อ เมื่อตะวันลอยสูง ทะเลหมอกเบื้องล่างก็ละมุนราวคลื่นน้ำนม มียอดเขาหยึกหยักของฝั่งลาวโผล่พ้น คล้ายเกาะแก่งกลางทะเลสักผืน ผู้คนจับจองพื้นที่มองดวงตะวันเจิดจ้า ฟ้าใสสดและผู้คนมากมาย เรียงรายบนยอดภูเขาที่มีสัณฐานชี้ปลายขึ้นไปเหนือท้องฟ้า เด็กชาวไทยภูเขาในชุด "เต็มยศ" ทาแก้มแดงเรียกร้องให้คนถ่ายรูป

          ยอดภูชี้ฟ้าไม่ได้ลึกลับและแปลกหน้าสำหรับผู้คนอีกต่อไป ไม่เกินเก้าโมงเช้าบนยอดภูเหลือเพียงลมหนาว ฟ้าใสสด และความว่างเปล่า นาน ๆ จะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาเยือน ภูชี้ฟ้า ในเวลากลางวันกันสักกลุ่ม หากในนามของภูเขา อันเป็นพื้นที่อันอบอุ่นแข็งแกร่ง ความหมายของมันไม่ได้เปลี่ยนไป

แม่น้ำอารี

          เราลงจากยอดดอยกันด้วยทางชัน ภาพทะเลภูเขากว้างสุดตาค่อย ๆ เลือนหายตามความสูงจากระดับทะเลปานกลางที่ลดลง และเมื่อลงสู่บ้านปางหัด ในเขต อำเภอเวียงแก่น ความอุ่นและ "ชีวิตชายแดน" ของผู้คนที่นี่กลับเล่าเรื่องราว ด้วยแม่น้ำสายสำคัญของอินโดจีนอย่างแม่น้ำโขง เข้าสู่เวียงแก่น ฉีกเลาะจุดผ่อนปรนชายแดนบ้านห้วยลึก ที่มีเพียงสินค้าก่อสร้างและเครื่องสาธารณูปโภคจำเป็นบางอย่าง รอลงลำเรือข้ามโขง บนตลิ่งคือแปลงผักและไร่ข้าวโพดเรียงราย

          ผู้ คนกับแม่น้ำโขงดูจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาเนิ่นนาน ชายชราในเรือประมงลำเล็กรู้ว่าแก่งไหนปลาชุม ตรงไหนน้ำเชี่ยว อย่างไรก็ตาม คนเวียงแก่นมีข้อตกลงว่า "ไม่จับปลา" ในระยะ 300 เมตร จากฝั่งตัวอำเภอ เพื่อการวางไข่และความสมบูรณ์ต่อเนื่องของ "อาหาร" และความอยู่รอดที่อยู่หน้าบ้านของพวกเขา

          แก่งก้อนคำ และ แก่งผาไดพลอย มี ผู้มาเยือนจากทิศทาง การขึ้นล่องท่องเที่ยวเป็นวงรอบไปสู่บนภูเขาที่เราจากมา ภาพเรือช้าล่องผ่านจากเชียงของมุ่งล่องไปสู่ หลวงพระบาง เลาะเลียบแก่งหินกลางลำน้ำดูราวภาพเขียนจากจิตกรจีน พวกเขามานั่งทอดสายตาเพียงครู่แล้วก็จากไปตามจุดมุ่งหมาย

          เราจากเวียงแก่นและใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1020 เลาะไปตามแม่น้ำโขงจนเข้าสู่ อำเภอเชียงของ แม่น้ำโขงไหลขนาบอยู่เบื้องขวามือ บางถนนก็แนบชิดและเปิดกว้างให้เห็นภาพแม่น้ำกระจ่างตา มีแนวเขาหินปูนหยึกหยักห่มหมอกราวไม่รู้กาลเวลา เมื่อเข้าเขตเชียงของ ถนนขนาดใหญ่ถูกขยายตามเส้นทางสาย R3A หรือระเบียงเศรษฐกิจที่จะข้ามไปสู่ลาว เข้าจีนที่เชียงรุ่ง มุ่งขึ้นไปคุนหมิงรองรับสินค้าและการท่องเที่ยวนานาที่มี "ถนน" เป็นตัวเชื่อมโยง

          กลางตลาดเติบโตจาก 3 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ร้านบะหมี่ไหหลำคู่เมืองเชียงของใหญ่โต ร้านกาแฟ โปสการ์ดประเภทเอาใจนักเดินทางเรียงราย โรงแรมขนาดใหญ่ก่อสร้าง เกสต์เฮาส์และโรงแรมประเภท "ริมโขง" แบบดั้งเดิมก็ไม่ได้ลดน้อยผู้คนลงไปนัก ตรงข้ามกันที่เมืองห้วยทราย แน่นขนัดด้วยตึกรามและเสียงเพลงยามค่ำคืน

          ขณะที่ร่องน้ำตรงบ้านหาดไคร้ ที่เคยเนืองแน่นด้วยการจับปลาบึกอันลือชื่อ ขณะนี้เหลือเพียงศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกร้างไร้การดูแล ใครบางคนว่าอาจเป็นเรื่องของ "เขื่อน" และการเปลี่ยนแปลงไปของแม่น้ำและคืนวัน หากทว่าเชียงของก็ยังสงบงามในยามเช้า ผู้คนแท้ ๆ ของที่นี่คล้ายกับมีกระดาษ 2 ใบ ที่พร้อมจะยื่นให้เราอ่าน ทั้งด้านที่เป็นตัวตนอันสงบสุขและด้านการเติบโต ปรับเปลี่ยน และต้องการการทำความเข้าใจในความแตกต่างของคืนวัน

          ผมได้ที่พักเป็นโรงแรมเล็ก ๆ ริมแม่น้ำโขงอันเก่าแก่ ยามเช้า แม่น้ำโขงยังคงอุ่นเอื้อและยิ่งใหญ่ ชายชราดูแลแปลงผักริมน้ำอยู่ครูใหญ่ก่อนจะลงเรือลำเดิม ค่อย ๆ กลายเป็นจุดเล็ก ๆ ที่หากินกับแม่น้ำสายเคยคุ้น กลางตลาด พระสงฆ์ยังคงออกเดินรับบาตรและลัดเข้ามาตามบ้าน แต่ละคุ้มที่มีพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยนบกบข้าวขึ้นเหนือหัว นั่งนิ่งรับคำให้พร สงบเย็น

          คงเป็นเรื่องไม่ยาก ตามการหลากไหลของวันเวลา ที่ใครสักคนจะรู้จักและเปิดความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ หากเป็นคนละเรื่องกับคำว่ายอมรับและทำความเข้าใจ ระหว่างถนนที่ทอดผ่านที่ราบ ข้ามขุนเขาอันทบทวีทั้งความงดงามและเรื่องราว จนจรดชายดินแดนที่แม่น้ำสายชรา ยังคงหลากไหลหล่อเลี้ยงพวกเขาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ว่าบนฝั่งจะเปลี่ยนไปเช่นไรก็ตาม

          จริง ๆ แล้ว ผมได้แต่หวังว่าใจคนจะหนักแน่น ยิ่งใหญ่ และแข็งแรงเหมือนกับภูเขาและแม่น้ำ ที่โอบล้อมเส้นทางแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ทุกคืนวัน

คู่มือนักเดินทาง

          จาก ตัวเมืองพะเยา เส้นทางขับรถเที่ยวสายอำเภอดอกคำใต้-จุน-เชียงคำ-เทิง-เวียงแก่น-เชียงของ มากไปด้วยความสวยงามทั้งธรรมชาติและวิถีชีวิตวัฒนธรรม

          ที่ แยกแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา ใช้ทางหลวงหมายเลข 1021 สู่อำเภอดอกคำใต้ แวะไปเที่ยววัดพระธาตุศรีมงคล พระธาตุหลวงจำไก่ โดยแยกขวาที่บ้านจำไก่

          จาก นั้นกลับใช้เส้นทางเดิมสู่อำเภอจุน ก่อนเข้าตัวอำเภอ แยกซ้ายไปเที่ยวโบราณสถานเวียงลอ อีกราว 16 กิโลเมตร กลับมาสู่ทางหลัก แยกซ้ายที่ตัวอำเภอจุน มุ่งหน้าสู่อำเภอเชียงคำ เที่ยววัดแสนเมืองมา วัดนันตาราม วัดพระนั่งดิน ไปเที่ยวชมวิถีวัฒนธรรมผู้คนไทยลื้อที่วัดพระธาตุสบแวน ดูต้นจามจุรีที่สวยที่สุดในโรงเรียนตลาดเช้าเชียงคำก็น่าเดินเล่น ดูกับข้าว พืชผักพื้นเมือง

          เลย เชียงคำไปไม่ไกล ใช้ทางหลวงหมายเลข 1210 แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1093 ผ่านอุทยานแห่งชาติภูซาง แวะเที่ยวน้ำตกภูซาง จากนั้นขึ้นเขา หากตรงกับวันที่ 10 และ 30 ของทุกเดือนแวะเที่ยวดูตลาดการค้าชายแดนไทย-ลาว บ้านฮวก ภาพผสมผสานของพี่น้องไทย-ลาวกับการค้าขายต่าง ๆ แสนมีชีวิตชีวา

          ใช้ ทางหลวงหมายเลข 1093 ขึ้นสู่บ้านร่มฟ้าไทย มีที่พักมากมายให้เลือก ยามเช้ามืดเดินขึ้นไปดูทะเลหมอกแสนสวย จุดหนึ่งของประเทศไทยที่ภูชี้ฟ้า

          สาย ๆ ออกเดินทางต่อสู่ดอยผาตั้ง จุดชมวิวไทย-ลาว อีกแห่งที่มากด้วยความงดงามและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ แวะชิมอาหารยูนนานเป็นมื้อเที่ยง

          จาก ดอยผาตั้ง ลงไปเที่ยวริมแม่น้ำโขงทางฝั่งอำเภอเวียงแก่น สู่บ้านปางหัด มีทางชันมากราว 4 กิโลเมตร ควรเช็กเบรกให้ดี ใช้เกียร์ต่ำเท่านั้น เมื่อเข้าสู่เวียงแก่น แยกออกเที่ยวแก่งผาได จุดชมวิวแม่น้ำโขงกับแก่งหินสวยงาม

          ย้อน ออกมาที่ตัวอำเภอเวียงแก่น มุ่งเลาะเลียบลำโขงสู่อำเภอเชียงของ ระหว่างทางสวยงามด้วยวิวแม่น้ำโขงประชิดสายตาทางด้านขวามือ เมื่อเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1020 ถึงเชียงของ หาที่นอนแสนโรแมนติกริมแม่น้ำโขง เที่ยววัดเก่าแก่ รวมไปถึงหมู่บ้านไทยลื้อที่มีเอกลักษณ์ทางการทอผ้าที่บ้านหาดบ้าย